ญิน คือสิ่งมีชีวิตที่กุรอานกล่าวว่า “และเราได้สร้างญินจากไฟอันร้อนระอุก่อนการสรรสร้าง(อาดัม)” ญินจึงถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่สมบูรณ์ซึ่งต้องได้รับการชี้นำโดยบรรดาศาสดาเช่นกัน อีกทั้งมีหน้าที่ต้องบูชาพระองค์เสมือนมนุษย์ ญินจำแนกออกเป็นกลุ่มกาฟิรและกลุ่มมุสลิมตามระดับการเชื่อฟังพระบัญชาของอัลลอฮ์ ซึ่งอิบลีสที่ไม่ยอมศิโรราบแก่นบีอาดัมในยุคแรกก็เป็นญินตนหนึ่ง
การทำอันตรายโดยการอนุมัติของพระองค์ในที่นี้ หมายถึงข้อเท็จจริงที่ว่าทุกๆพลังอำนาจที่มีอยู่ในโลกล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น แม้แต่อานุภาพความร้อนและคมมีดก็ไม่อาจทำอะไรได้หากพระองค์มิทรงยินยอม เป็นความคิดที่ผิดมหันต์หากจะเชื่อว่าจอมขมังเวทย์ทั้งหลายสามารถจะคานอำนาจของพระองค์ เนื่องจากไม่มีสิ่งใดจะสามารถกำหนดขอบเขตอำนาจของพระองค์ได้ กฏเกณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติและผลลัพท์ที่ทรงกำหนดแก่ทุกสรรพสิ่ง โดยมนุษย์บางคนใช้ประโยชน์ในทางที่ดี แต่ก็มีบางคนใช้ประโยชน์ในทางเสื่อมเสีย
ภูตผีมีจริงหรือเพียงแค่ภาพหลอน?!
ในคติของคนทั่วไป ภูตผีปีศาจใช้เรียกสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะ อันมีความเกี่ยวโยงกับซาตาน แต่ถ้าหากกล่าวในเชิงนามเฉพาะก็จะหมายถึงอิบลีสนั่นเอง[1] ที่คุณเอ่ยคำว่าภูตปีศาจในคำถามนั้น ในคติของกุรอานเรียกว่า“ญิน” ความหมายทั่วไปของคำว่าญินก็คือ “สิ่งที่ซ่อนเร้น”[2] กุรอานกล่าวถึงการสร้างญินว่า “และเราได้สร้างญินจากเพลิงอันร้อนระอุก่อนสิ่งนั้น(การสร้างนบีอาดัม)[3] ญินจึงถือเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ที่ต้องได้รับการนำทางโดยบรรดาศาสดาเช่นกัน[4] อีกทั้งมีหน้าที่ต้องบูชาพระองค์เสมือนมนุษย์[5] โดยจำแนกออกเป็นกลุ่มกาฟิรและกลุ่มมุสลิมตามระดับการเชื่อฟังพระบัญชาของอัลลอฮ์[6] อิบลีสที่ไม่ยอมศิโรราบแก่นบีอาดัมในยุคแรกก็เป็นญินตนหนึ่ง[7]
อย่างไรก็ดี บางครั้งบุคคลทั่วไปมักจะเรียกภาพเลือนลางในจินตนาการของตนว่า“ผี” แต่หากพิจารณาถึงโองการและฮะดีษของบรรดาอิมามที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็จะทราบว่าญินคือสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่จริง
โองการที่ 102 ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์เล่าว่าชาวยิวได้เรียนรู้เวทมนตร์คาถาจากสองสำนัก
หนึ่ง. สำนักชัยฏอน ที่พยายามสอนคนทั่วไปให้เก่งกล้าคาถาอาคม เพื่อยุแหย่ให้กระทำบาปมากขึ้น
สอง. สำนักมะลาอิกะฮ์ มลาอิกะฮ์สององค์ลงมาสอนวิธีแก้คุณไสยแก่ประชาชน[8]
โองการดังกล่าวเล่าว่า อัลลอฮ์ได้ส่งมะลาอิกะฮ์สององค์[9]นามฮารู้ตและมารู้ตลงมา(ไม่ไช่ภูตปีศาจอย่างที่คุณเข้าใจ) ทั้งนี้ก็เพื่อสอนผู้คนให้แก้คาถาอาคมได้ด้วยตนเอง ทว่าผู้คนกลับเรียนเฉพาะสิ่งที่ทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างสามีภรรยา
ฉะนั้น ประเด็นแรกคือ ผู้คนมิได้เรียนคาถาอาคมจากภูตผีปีศาจอย่างที่คุณกล่าวมา แต่มีมลาอิกะฮ์สององค์ได้รับบัญชาให้สอนประชาชน ประเด็นที่สอง กุรอานไม่ได้กล่าวว่ามลาอิกะฮ์สององค์นี้สอนคาถาอาคมที่ทำให้ครอบครัวร้าวฉาน แต่กล่าวเพียงว่าผู้คนเลือกที่จะเรียนรู้คาถาดังกล่าวเอง[10]
เป็นที่ทราบกันดีว่าสองสำนวนข้างต้นมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บางครั้งอาจารย์ท่านหนึ่งให้ความรู้แก่นักศึกษาเพื่อจะได้เจริญก้าวหน้าทางวิชาการ แต่นักศึกษากลับใช้ความรู้ดังกล่าวในทางเสื่อมเสีย บางครั้งเรียนรู้ทักษะบางประการที่เป็นดาบสองคม แต่นักศึกษาเลือกที่จะใช้ในด้านลบเพียงด้านเดียว วิทยาการที่ใช้สร้างระเบิดทำลายล้างชนิดต่างๆในยุคบุกเบิกก็มีลักษณะเช่นนี้เนื่องจากมนุษย์บางกลุ่มใช้ความก้าวหน้าทางวิชาการในแง่ลบ
อย่างไรก็ดี หากศึกษาเหตุของการประทานโองการข้างต้นก็จะทำให้เข้าใจประเด็นดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เรื่องราวก็คือ มลาอิกะฮ์สององค์นี้รับบัญชาให้ลงมาสอนวิธีแก้ไสยศาสตร์และคาถาอาคมแก่ประชาชน โดยได้เน้นย้ำชัดเจนว่าเราสององค์เป็นการทดสอบของพระองค์ ฉะนั้นจึงอย่ากลายเป็นผู้ปฏิเสธ (และจงใช้วิชาตามจุดประสงค์ที่ถูกต้อง)[11]
ท่านผู้อ่านสามารถศึกษาเหตุแห่งการประทานโองการนี้ พร้อมกับเรื่องราวของฮารู้ตและมารู้ตได้จากคำถามที่ 4970 (ลำดับในเว็บไซต์ 5247)
ไขข้อข้องใจที่ว่า”อัลลอฮ์ทรงปล่อยให้มีการทำรายผู้คนกระนั้นหรือ?”
หากพิจารณากันให้ดีถึงเนื้อหาของโองการดังกล่าวก็จะทราบว่า โองการนี้ต้องการชี้แจงข้อสงสัยข้างต้น โดยหลังจากที่พระองค์ทรงตรัสว่าผู้คนเลือกที่จะเรียนคาถาอาคมที่ทำให้ครอบครัวร้าวฉาน จุดนี้อาจเกิดข้อสงสัยที่ว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงก็แสดงว่ามนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างของโลกและทำทุกอย่างตามอำเภอใจโดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจของพระเจ้าได้กระนั้นหรือ? พระองค์ทรงชี้แจงว่า แม้จะใช้วิชาอาคมทำร้ายผู้อื่นได้ แต่ก็ยังอยู่ในระบบที่พระองค์ทรงวางไว้อยู่ดี...[12]
คำอธิบายเพิ่มเติม
โองการดังกล่าวต้องการจะตีแผ่แกนหลักที่สำคัญของเตาฮี้ดที่ว่า ทุกอำนาจที่มีในสากลโลกล้วนถ่ายทอดมาจากเดชานุภาพของพระองค์ทั้งสิ้น แม้แต่ความร้อนและคมหอกคมดาบก็ไม่มีอานุภาพใดๆหากพระองค์มิทรงยินยอม เป็นความคิดที่ผิดมหันต์หากจะเชื่อว่าจอมขมังเวทย์ทั้งหลายสามารถจะต้านทานอำนาจของพระองค์ได้ เนื่องจากไม่มีสิ่งใดจะสามารถกำหนดขอบเขตอำนาจของพระองค์ได้เลย กฏเกณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติและผลลัพท์ที่ทรงกำหนดแก่ทุกสรรพสิ่ง โดยบางคนใช้ประโยชน์ในทางดี แต่ก็มีบางคนใช้ประโยชน์ในทางเสื่อมเสีย ทั้งนี้ อิสระและเสรีภาพที่พระองค์มอบให้มนุษย์นั้น ถือเป็นสิ่งทดสอบสำหรับพัฒนาตนเอง[13]
แม้เราจะทราบดีว่าอานุภาพของทุกสิ่งล้วนขึ้นตรงต่อพระองค์ แต่ก็มิได้หมายความว่าพระองค์ทรงประสงค์จะให้มนุษย์ได้รับอันตรายจากคาถาอาคม ทั้งนี้ ที่คาถาอาคมมีอานุภาพได้ก็เพราะเป็นอีกระบบหนึ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้นั่นเอง ดังกรณีที่มีดสามารถเฉือนวัตถุเนื้ออ่อนได้ โดยมนุษย์ได้ใช้ประโยชน์จากกฏเกณฑ์ดังกล่าวมาโดยตลอด แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ผู้บริสุทธิ์ถูกแทงด้วยมีดจนเสียชีวิต ในมุมหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นจากกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติอันเป็นพระประสงค์พื้นฐานของพระองค์ แต่ย่อมมิได้หมายความว่าพระองค์ทรงอนุญาตให้อาชญากรใช้มีดแทงผู้บริสุทธิ์เป็นการเฉพาะ เนื่องจากพระองค์ทรงห้ามปรามไว้ในหลายโองการมิให้สังหารหรือลิดรอนสิทธิผู้บริสุทธิ์ โดยทรงสัญญาว่าจะลงโทษผู้อธรรมอย่างสาสม[14]
ระเบียนที่เกี่ยวข้อง
หนึ่ง. คำถามที่ 4960 (ลำดับในเว็บไซต์ 5247) ฮารู้ตและมารู้ต
สอง. คำถามที่ 2992 (ลำดับในเว็บไซต์ 3237) ความชั่วร้ายสืบเนื่องถึงพระองค์อย่างไร
[1] มุอีน,มุฮัมมัด,พจนานุกรมมุอีน,หน้า 457,สำนักพิมพ์เบะฮ์ซ้อด,เตหราน,ปี1386
[2] รอฆิบ อิศฟะฮานี,อัลมุฟเราะด้าต ฟี เฆาะรีบิลกุรอาน,เล่ม 1,หน้า 203
[3] อัลฮิจร์,27
[4] อัลอันอาม,130 (จะมีสุรเสียงจากพระองค์ในวันกิยามะฮ์ว่า) โอ้กลุ่มญินและมนุษย์เอ๋ย ไม่มีศาสนทูตจากสูเจ้ามาดอกหรือ เพื่อนำเสนอโองการของเราแก่สูเจ้า และเตือนสูเจ้าเกี่ยวกับการพบปะในวันนี้? พวกเขาตอบว่า เราขอสารภาพผิด(มีศาสนทูตมาเตือนแล้ว) ทว่าชีวิตในดุนยาได้หลอกลวงเรา (ด้วยเหตุนี้)จึงสารภาพมัดตัวตนเองว่าเคยเป็นผู้ปฏิเสธ”
[5] อัซซาริยาต,57
[6] อัลอะห์ก้อฟ,29 โองการนี้กล่าวถึงการรับอิสลามของญินกลุ่มหนึ่ง โดยโองการอื่นๆมีการกล่าวถึงกลุ่มญินผู้ปฏิเสธ ดู: ฟุศศิลัต,29 อะอ์ร้อฟ,38 อัลกาฟี,เล่ม 1,หน้า 295
[7] อัลกะฮ์ฟิ,50 “และ(จงรำลึกเถิด)เมื่อครั้งที่เราได้ตรัสแก่มลาอิกะฮ์ว่า จงสุญูดแก่อาดัม พลันพร้อมใจกันสุญูดยกเว้นอิบลีสซึ่งมาจาก(เผ่าพันธุ์)ญิน (เนื่องจากมลาอิกะฮ์ย่อมไม่ฝ่าฝืนพระองค์) และได้ผันตนออกจากคำสั่งของพระผู้อภิบาลของตน”
[8] เหตุผลที่สามารถเรียนรู้ไสยศาสตร์ได้ อาทิเช่น เพื่อแก้มนตร์ดำ หรือเพื่อต่อกรกับเหล่าจอมขมังเวทย์ ดู: ญะฟะรี,ยะอ์กู้บ,ตัฟซี้รเกาษัร,เล่ม,หน้า
[9] عن الرضا(ع):وَ أَمَّا هَارُوتُ وَ مَارُوتُ فَكَانَا مَلَكَيْنِ عَلَّمَا النَّاسَ السِّحْرَ لِيَحْتَرِزُوا بِهِ سِحْرَ السَّحَرَةِ وَ يُبْطِلُوا بِهِ كَيْدَهُم ดู: วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 17,หน้า 147,หมวดห้ามเรียนรู้เวทมนตร์คาถาและห้ามใช้ทำมาหากิน
[10] กรุณาสังเกตุความหมายของโองการ: “และ(ชาวยิว)ต่างคล้อยตามสิ่งที่ชัยฏอนนำมาสอนในยุคของสุลัยมาน(อ.) สุลัยมานไม่เคย(แตะต้องวิชาอาคมเหล่านี้)และมิได้เป็นกาฟิร ทว่าชัยฏอนต่างพากันปฏิเสธและสอนมนตร์ดำแก่ผู้คน และ(ชาวยิวบางส่วน)เชื่อฟังในสิ่งที่มลาอิกะฮ์สององค์นามฮารู้ตและมารู้ตได้นำมาสอน (โดยได้สอนให้รู้จักวิธีทำคุณไสยเพื่อให้ทราบวิธีแก้มนตร์ดำ) และมิได้สอนผู้ใดเว้นเสียแต่จะเตือนเสมอว่าเราเป็นเครื่องทดสอบ จงอย่าเป็นผู้ปฏิเสธ (ด้วยการนำไปใช้ในแง่ลบ) ทว่าพวกเขาเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่จะทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างสามีภรรยา แต่พวกเขาไม่สามารถจะทำอันตรายผู้ใดได้เว้นแต่พระองค์ทรงอนุญาต พวกเขาเรียนรู้ในสิ่งที่มีอันตรายต่อตนเองโดยไม่อาจจะให้ประโยชน์ใดๆ และแน่นอนว่าผู้ใดก็ตามที่แสวงหาสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ได้รับประโยชน์ใดๆในอาคิเราะฮ์ สิ่งที่พวกเขาแสวงหามานั้นช่างน่ารังเกียจเสียนี่กระไร หากพวกเขาทราบ”
[11] อัลบะเกาะเราะฮ์,102
[12] อิงเนื้อหาจากตัฟซี้รอัลมีซาน,เล่ม 1,หน้า 355
[13] มะการิม ชีอรซี,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 1,หน้า 377
[14] อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า “และจงอย่าสังหารผู้ที่พระองค์ทรงพิทักษ์โลหิตของเขาเว้นแต่จะมีสิทธิอันชอบธรรม และหากผู้ใดถูกสังหารในฐานะผู้ถูกกดขี่ เราได้กำหนดให้ผู้รับผิดชอบเขามีอำนาจชอบธรรม(ในการกิศอศ) ทว่าอย่าสุรุ่ยสุร่ายในการสังหาร แท้จริงเขาได้รับการช่วยเหลือ”,อิสรออ์,33