บรรดานบีและเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ์ (ซึ่งท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.)ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของบุคคลประเภทนี้) ล้วนมีความโดดเด่นเป็นพิเศษเหนือชาวสวรรค์ท่านอื่นๆ ทำให้บุคคลเหล่านี้ล้วนมีฐานะภาพเหนือชาวสวรรค์ทั่วไป อย่างไรก็ดี บางครั้งคุณลักษณะบางประการของบุคคลเหล่านี้ทำให้บารมีดังกล่าวโดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่งเป็นพิเศษ
หากเราจะขนานนามท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)ว่า "ประมุขหญิงแห่งอิสตรีชาวสวรรค์" หรือหากเราจะขนานนามอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)ว่า "ประมุขแห่งผู้ศิโรราบ"หรือ "ประมุขแห่งผู้บำเพ็ญอิบาดะฮ์" นั่นมิได้หมายความว่าท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.)ไม่มีบารมีเหนือบุรุษเพศ หรือท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)ไม่มีภาวะผู้นำเหนือผู้ที่ปล่อยปละละเลยอิบาดะฮ์ แต่ที่ขนานนามเช่นนั้นก็เพราะคุณสมบัติความเป็นสตรีของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) ตลอดจนการที่อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)มีสมาธิขั้นสูงในการทำอิบาดะฮ์ ทำให้ทั้งสองท่านเหมาะสมที่จะได้รับฉายานามดังที่กล่าวมา
เมื่อทราบดังนี้ จึงไม่ควรจะคิดว่าท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) มีสถานภาพเหนือกว่าท่านนบี(ซ.ล.) อิมามอลี(อ.) และนักบำเพ็ญอิบาดะฮ์ขั้นสูงท่านอื่นๆ เพียงเพราะได้รับฉายานามว่าเป็นประมุขแห่งเหล่านักบำเพ็ญอิบาดะฮ์
ในกรณีของท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.) ที่มีสถานภาพเหนือกว่าหนุ่มสาวในสรวงสวรรค์ก็ชี้แจงได้ด้วยตรรกะเดียวกันนี้ เนื่องจากท่านทั้งสองถือกำเนิดในยุคแรกของอิสลาม วัยหนุ่มของทั้งสองท่านตรงกับยุคที่อิสลามเริ่มทอแสง และไม่ว่าจะในยุคของท่านนบี(ซ.ล.)หรือยุคต่อมาก็ตาม ไม่อาจจะหาวัยรุ่นคนใดมาเทียบเคียงท่านทั้งสองได้ ท่านทั้งสองมีความยำเกรงเหนือเด็กหนุ่มทุกคน ณ เวลานั้น ด้วยเหตุนี้จึงได้รับฉายานามว่าประมุขแห่งเด็กหนุ่มในสรวงสวรรค์ เพราะโดยปกติ ท่านก็เป็นทั้งประมุขของเด็กหนุ่มในสรวงสวรรค์ และเป็นประมุขของผู้มีอายุท่านอื่นๆในโลกดุนยาอยู่แล้ว
ขอให้ลองพิจารณาฮะดีษสองบทต่อไปนี้
- . قَالَ أَبُو عَبْدِ اللَّهِ ع زُورُوا قَبْرَ الْحُسَيْنِ ع وَ لَا تَجْفُوهُ فَإِنَّهُ سَيِّدُ شَبَابِ أَهْلِ الْجَنَّةِ مِنَ الْخَلْقِ وَ سَيِّدُ شَبَابِ الشُّهَدَاء
อิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า "พวกท่านจงไปเยี่ยมเยียนสุสานของอิมามฮุเซน(อ.)เถิด และระวังอย่าละเมิดสิทธิของท่าน เพราะท่านคือประมุขของหนุ่มสาวชาวสวรรค์ และเป็นประมุขของชายหนุ่มที่เป็นชะฮีด"[1]
หากพิจารณาฮะดีษดังกล่าวให้ดีจะพบว่า นอกจากท่านอิมามฮุเซนจะได้รับการขนานนามว่า ซัยยิดุชชุฮะดาอ์ (ประมุขของเหล่าชะฮีด) และแม้ว่าท่านจะเสียชีวิตขณะอยู่ในวัยกลางคนก็ตาม แต่กลับได้รับฉายานามว่า "ประมุขของชายหนุ่มชะฮีด" เพิ่มมาด้วย ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นการชี้ให้เห็นถึงสถานภาพอันสูงส่งของบรรดาชะฮีดที่เป็นยุวชน ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของท่านอิมามฮุเซน(อ.)
2 ฮะดีษที่ว่า
عن علي ع قال قال رسول الله ص أتاني ملك فقال يا محمد إن الله تعالى يقول لك إني قد أمرت شجرة طوبى أن تحمل الدر و الياقوت و المرجان و أن تنثره على من قضى عقد نكاح فاطمة من الملائكة و الحور العين و قد سر بذلك سائر أهل السماوات و إنه سيولد بينهما ولدان سيدان في الدنيا و سيسودان على كهول أهل الجنة و شبابها و قد تزين أهل الجنة لذلك فاقرر عينا يا محمد فإنك سيد الأولين و الآخرين[2]
ท่านอิมามอลี(อ.)รายงานจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า ท่านเคยกล่าวว่า "มีมะลาอิกะฮ์องค์หนึ่งมาพบฉันและเล่าว่า โอ้มุฮัมมัด ... และหลานทั้งสองของท่านคือผู้มีเกียรติในโลกดุนยา และในไม่ช้าก็จะได้เป็นประมุขของชายหนุ่มและคนชราในสรวงสวรรค์ และ..."
ฮะดีษนี้ระบุว่ามีทั้งวัยรุ่นและคนชราในสวรรค์ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาว่าในสรวงสวรรค์ไม่มีภาวะชราภาพ จึงสามารถสรุปได้ว่าหลานรักของท่านนบี(ซ.ล.)ทั้งสองท่านนี้ เป็นผู้นำของชาวสวรรค์โดยรวมก็จริง แต่ทว่าสถานะความเป็นประมุขที่มีต่อของชาวสวรรค์ที่ชะฮีดหรือเสียชีวิตปกติในวัยหนุ่มสาวนั้น เข้มข้นกว่า สำนวนเช่นนี้ย่อมไม่ขัดต่อความเชื่อที่ว่าชาวสวรรค์ล้วนอยู่ในวัยหนุ่มสาวทั้งหมด เพราะคนชราชาวสวรรค์ในที่นี้หมายถึงผู้ที่เป็นชะฮีดหรือเสียชีวิตในวัยชรานั่นเอง
อีกคำถามหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับบางท่านก็คือ ฮะดีษนี้ต้องการจะสื่อว่าท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.)มีสถานะเป็นประมุขเหนือบรรดานบีและบรรดาอิมามท่านอื่นๆหรือไม่? ตอบโดยสรุปได้ว่า โดยปกติแล้ว สำนวนทุกสำนวนย่อมมีข้อยกเว้น ซึ่งบางสำนวนระบุข้อยกเว้นไว้อย่างชัดเจน แต่บางสำนวน เนื่องจากผู้พูดถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ต้องอธิบายมากนัก ผู้ฟังจึงต้องพิจารณาเบาะแสและพยานแวดล้อมเอง
เพราะฉะนั้น เนื้อหาโดยสรุปของฮะดีษก็คือ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.)มีสถานะเป็นประมุขเหนือชาวสวรรค์ทั่วไป แต่ไม่รวมถึงชาวสวรรค์ระดับพิเศษอย่างท่านนบี(ซ.ล.), ท่านอิมามอลี(อ.),ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) ...ฯลฯ
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ลองพิจารณาฮะดีษต่อไปนี้
มีชายคนหนึ่งซักถามท่านอิมามศอดิก(อ.)ว่า "ท่านนบี(ซ.ล.)มิได้กล่าวดอกหรือว่าท่านอบูซัรคือผู้มีสัจจะที่สุด?" ท่านอิมามตอบว่า "ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวไว้เช่นนั้นจริง" เขาจึงแย้งว่า "หากเป็นเช่นนั้น แล้วท่านนบี(ซ.ล.)และอิมามอลี(อ.)เล่า? อิมามฮะซัน อิมามฮุเซน(อ.)เล่า?" (ท่านอบูซัรมีสัจจะกว่าบุคคลเหล่านี้กระนั้นหรือ?) ท่านอิมามตอบว่า "อะฮ์ลุลบัยต์อย่างพวกอยู่นอกการเปรียบเทียบดังกล่าว"[3]
นั่นหมายความว่า เมื่อพิจารณาถึงเบาะแสและพยานแวดล้อม จะเข้าใจได้ว่ามีการเปรียบสัจจะวาจาของท่านอบูซัรกับบุคคลทั่วไป ไม่ได้หมายรวมถึงบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์(อ.) แม้ตัวบทฮะดีษจะมิได้ระบุอย่างชัดเจนก็ตาม
[1] เชคศ่อดู้ก,ษะวาบุ้ลอะอ์ม้าล,หน้า 97,สำนักพิมพ์ ชะรีฟ เราะฎี,กุม
[2] เศาะฮีฟะตุรริฎอ(อ.),หน้า 94,ฮะดีษที่ 30,การประชุมนานาชาติอิมามริฎอ(อ.),ฮ.ศ.1406
[3] เชคศ่อดู้ก,มะอานิ้ลอัคบ้าร,เล่ม 1,หน้า 179,สำนักพิมพ์ญามิอะฮ์ มุดัรริซีน,กุม