Please Wait
6445
อัคล้าก (จริยธรรม) แบ่งออกเป็นสองประเภทเสมือนศาสตร์แขนงอื่นๆดังนี้
ก. จริยธรรมภาคทฤษฎี
ข. จริยธรรมภาคปฏิบัติ
การเรียนรู้หลักจริยธรรมภาคทฤษฎีมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเชาวน์ปัญญา กล่าวคือ ยิ่งมีความเฉลียวฉลาดเท่าใด ก็ยิ่งเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่หากมีเชาวน์ปัญญาน้อย ก็จะทำให้เรียนรู้จริยศาสตร์ได้น้อยตามไปด้วย
ทว่าในส่วนของภาคปฏิบัติ (ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นจุดประสงค์หลักของผู้ถาม) จำเป็นต้องชี้แจงในรายละเอียดดังต่อไปนี้
มีการนิยามคำว่าอัคล้ากว่า เป็นพหูพจน์ของ “คุ้ลก์” อันหมายถึง “ทักษะทางจิตใจของมนุษย์ที่ส่งผลให้กระทำการใดๆโดยอัตโนมัติ”
ฉะนั้น อัคล้าก (จริยธรรม) ก็คือนิสัยและความเคยชินที่หยั่งรากลึกในจิตใจมนุษย์ ส่งผลให้ปฏิบัติกิจกรรมโดยไม่ต้องข่มใจ นั่นหมายความว่า การทำดีในลักษณะที่เกิดจากการไตร่ตรองไว้ก่อนนั้น แม้จะถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ไม่ถือเป็นความประเสริฐทางอัคล้าก ผู้ที่มีอัคล้ากดีก็คือผู้ที่กระทำความดีจนกลายเป็นอุปนิสัย โดยไม่ต้องชั่งใจใดๆทั้งสิ้น เปรียบเสมือนนักประดาน้ำที่กระโจนลงน้ำโดยไม่ต้องชั่งใจใดๆ ส่วนผู้ที่ต้องทำใจก่อน แล้วจึงหย่อนตัวลงในน้ำอย่างกล้าๆกลัวๆ เราไม่เรียกว่านักประดาน้ำ
ประเด็นทางอัคล้ากก็เช่นกัน หากผู้ใดฝึกฝนจนเคยชินต่อการกระทำดีในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องฉุกคิดล่วงหน้า ถือว่าเขามีอุปนิสัยเชิงอัคล้ากแล้ว ส่วนผู้ที่ต้องฉุกคิดก่อนแล้วจึงได้ข้อสรุปว่า การรักนวลสงวนตัวเป็นเรื่องดี หรือความยุติธรรมเป็นสิ่งที่พึงกระทำ ถือว่าเขายังไม่มีอุปนิสัยเหล่านี้ และยังไม่เรียกว่าเป็นผู้ที่มีความประเสริฐทางอัคล้ากได้ แม้จะกระทำความดีเชิงอัคล้ากแล้วก็ตาม[1]
สรุปคือ เชาวน์ปัญญามีผลต่อการเรียนรู้อัคล้ากภาคทฤษฎีเท่านั้น เนื่องจากช่วยให้เข้าใจหลักการอัคล้ากอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ในภาคปฏิบัติแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการยึดถือและปฏิบัติตามคำแนะนำด้านอัคล้ากนั่นเอง
[1] เชคเฏาะบัรซี, อัลอาดาบุดดีนียะฮ์ ลิ้ลเคาะซานะติล มุอีนียะฮ์, อาบิดี, อะห์มัด, หน้า 194-195,(ปรับปรุงเล็กน้อย),สำนักพิมพ์ซาอิร,พิมพ์ครั้งแรก,กุม,ปี 1380