Please Wait
10779
สรวงสวรรค์นับเป็นความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบเป็นรางวัลสำหรับผู้ศรัทธาและประพฤติดีโดยไม่มีข้อจำกัดทางเพศ จากการยืนยันโดยกุรอานและฮะดีษพบว่า “ฮูรุลอัยน์”คือหนึ่งในผลรางวัลที่อัลลอฮ์ทรงมอบให้ชาวสวรรค์ น่าสังเกตุว่านักอรรถาธิบายกุรอานส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าในสวรรค์ไม่มีพิธีแต่งงาน ส่วนคำว่าแต่งงานกับฮูรุลอัยน์ที่ปรากฏในกุรอานนั้น ตีความกันว่าหมายถึงการมอบฮูรุลอัยน์ให้เคียงคู่ชาวสวรรค์โดยไม่ต้องแต่งงาน.
ส่วนคำถามที่ว่าสตรีในสวรรค์สามารถมีสามีหลายคนหรือไม่นั้น จากการศึกษาโองการกุรอานและฮะดีษทำให้ได้คำตอบคร่าวๆว่า หากนางปรารถนาจะมีคู่ครองหลายคนในสวรรค์ก็จะได้ตามที่ประสงค์ ทว่านางกลับไม่ปรารถนาเช่นนั้น
สวรรค์และความโสภาอันนิรันดร์ถือเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ ที่พระองค์ทรงมอบเป็นรางวัลแด่บ่าวผู้ยำเกรงและเปี่ยมศรัทธา อย่างไรก็ดี ความรื่นรมย์ที่เหนือไปกว่านั้นก็คือความพึงพอพระทัยของพระองค์อันถือเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับมนุษย์ ประเด็นสำคัญก็คือ ความศรัทธาและการบำเพ็ญกุศลเท่านั้นที่จะนำพาสู่สรวงสวรรค์ ยิ่งศรัทธาแรงกล้าและกุศลกรรมมากมายเท่าใด ก็ยิ่งอำนวยให้ได้รับฐานันดรที่สูงขึ้นในสวรรค์ ซึ่งในการนี้ไม่มีข้อจำกัดทางเพศ หญิงและชายสามารถบรรลุระดับขั้นต่างๆได้เท่าเทียมกัน ดังกุรอานกล่าวว่า: “ชายและหญิงคนใดที่ประกอบกุศลกรรมและเป็นผู้ศรัทธา แน่แท้จะได้ย่างเข้าสู่สรวงสวรรค์ และจะได้รับปัจจัยโดยไร้การคำนวนนับ.”[1]
สวรรค์ย่อมปราศจากกฏเกณฑ์ใดๆ เพราะหากในสวรรค์มีกฏเกณฑ์เหมือนโลกนี้ ก็ย่อมจะต้องมีสวรรค์และนรกอีกชั้นหนึ่งเพื่อตอบแทนหรือลงทัณฑ์ในสิ่งที่ทำในสวรรค์ และจะเป็นบ่วงลูกโซ่เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด ในขณะที่จริงๆแล้ว อัลลอฮ์กำหนดให้สวรรค์เป็นรางวัลสำหรับกุศลกรรมและความศรัทธาในโลกนี้ และหากพิจารณาจากโองการกุรอานและฮะดีษจะพบว่า ชาวสวรรค์จะได้รับทุกสิ่งที่หมายปอง[2] ซึ่งฮูรุลอัยน์ก็นับเป็นความรื่นรมย์หนึ่งที่ชายชาวสวรรค์จะได้เชยชม.
คำว่า“ฮูร”เป็นพหูพจน์ของ“เฮารออ์”ซึ่งแปลว่า หญิงสาวที่ตาดำของเธอดำขลับ และตาขาวของเธอขาวหมดจด หรืออีกความหมายหนึ่งคือ หญิงสาวที่นัยน์ตาของเธองามดุจนัยน์ตาของกวาง ส่วน“อัยน์”เป็นพหูพจน์ของ“อัยนาอ์”ซึ่งแปลว่าผู้มีนัยน์ตากลมโต สันนิษฐานว่าฮูรุลอัยน์มีความแตกต่างจากหญิงสาวทั่วไปในโลกนี้[3] โดยพระองค์ทรงกล่าวว่า“เราได้สมรสพวกเขากับฮูรุลอัยน์[4]” ประเด็นนี้นักอรรถาธิบายกุรอานเห็นพ้องกันว่าในสวรรค์ย่อมไม่จำเป็นต้องมีการสมรสตามรูปแบบทั่วไปในโลก ฉะนั้นสมรสในที่นี้จึงหมายถึงการบันดาลฮูรุลอัยน์ให้เคียงคู่ชายหนุ่มในสวรรค์.[5]
จากการพิจารณาถึงคุณสมบัติของฮูรุลอัยน์ที่ปรากฏในกุรอานและฮะดีษบางบท ทำให้เข้าใจได้ว่าฮูรุลอัยน์แต่ละนางมีสามีเพียงคนเดียวเท่านั้น ดังที่พระองค์ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า:“...ไม่มีมนุษย์คนใดหรือญินตนใดจะได้สัมผัสนางมาก่อน(ที่จะได้พบคู่ครองในสวรรค์)[6]”.
อัลลามะฮ์ มัญลิซี กล่าวอธิบายคำว่า“กอศิรอตุต ฏ็อรฟ์”ที่ปรากฏช่วงแรกของโองการดังกล่าวว่า“พวกนางคือคู่รักที่สงวนนัยน์ตาไว้เพื่อมองคู่ครองของตนโดยเฉพาะ และจะไม่ปรารถนาผู้ใดนอกจากคู่ครอง”[7].
ส่วนกรณีของสตรีที่ได้เข้าสวรรค์เล่า จะปรารถนาคู่ครองที่หลากหลายดังเช่นชายชาวสวรรค์หรือไม่? คงต้องชี้แจงว่า ถึงแม้ชาวสวรรค์จะได้รับทุกสิ่งที่หมายปองก็จริง แต่ทว่าสตรีชาวสวรรค์ไม่ปรารถนาจะมีคู่ครองหลายคน สังเกตุได้จากการที่สตรีผู้ศรัทธาในโลกนี้ก็มิได้ปรารถนาชายอื่นที่นอกเหนือจากสามี แน่นอนว่าในสวรรค์อันเป็นที่พำนักของผู้มีจิตผ่องแผ้ว สตรีชาวสวรรค์ก็มิได้ปรารถนาจะมีสามีหลายคนแต่อย่างใด.
มีรายงานว่า มีผู้ซักถามท่านอิมามศอดิกเกี่ยวกับการสมรสระหว่างคู่สามีภรรยาที่ได้เข้าสวรรค์ทั้งสองคน ท่านตอบว่า:“หากระดับขั้นของภรรยาสูงกว่าสามี ภรรยาสามารถมีสิทธิเลือกครองรักกับสามีคนเดิมได้(โดยสามีไม่มีสิทธิเลือก) แต่หากระดับขั้นของสามีสูงกว่าภรรยา สามีก็มีสิทธิเลือกภรรยาเดิมของตน(แต่ภรรยาไม่มีสิทธิเลือก) ซึ่งในกรณีที่เลือก ภรรยาเดิมก็จะเป็นหนึ่งในกลุ่มภรรยาของสามี[8]” ชัดเจนว่าภรรยาจะเป็นหนึ่งในกลุ่มภรรยาของสามี ในขณะที่สามีจะเป็นสามีหนึ่งเดียวของภรรยา.
อีกฮะดีษหนึ่งรายงานจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า “หากสตรีในโลกนี้ผ่านการสมรสกับผู้ชายมากกว่าหนึ่งคน ในโลกหน้านางจะเลือกอดีตสามีคนใดก็ตามที่นางเห็นชอบ(ในแง่จรรยามารยาท)ให้เป็นสามีต่อไป”[9] จะเห็นได้ว่านบีมิได้กล่าวว่านางจะเลือกทั้งสองคน แต่ชี้ชัดว่านางเลือกคนที่ดีที่สุดเพียงคนเดียว.
ท้ายนี้ขอกล่าวเสริมว่า ในสวรรค์มี“ฆิลมาน”ที่จะปรนนิบัตรับใช้ทั้งชายและหญิงชาวสวรรค์
กุรอานกล่าวว่า “จะมีเด็กหนุ่มสาละวนรับใช้อยู่รายรอบ ประหนึ่งมุขงามในเปลือกหอย”[10]
ความหมายทั่วไปของโองการดังกล่าวบ่งชี้ว่า เด็กหนุ่มเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อปรนนิบัติรับใช้เท่านั้น.
[1] ซูเราะฮ์ ฆอฟิร, 40.
[2] ซูเราะฮ์ ฟุศศิลัต, 31.
[3] คำแปลอัลมีซาน, เล่ม 18 , หน้า 228 .
[4] ซูเราะฮ์ อัดดุคอน, 54
[5] บิฮารุลอันวาร, เล่ม 8 ,หน้า 99 และ คำแปลอัลมีซาน, เล่ม 18 , หน้า 220.
[6] "فیهِنَّ قاصِراتُ الطَّرْفِ لَمْ یَطْمِثْهُنَّ إِنْسٌ قَبْلَهُمْ وَ لا جَان" ซูเราะฮ์ อัรเราะฮ์มาน, 59
[7] บิฮารุลอันวาร, เล่ม 8 , หน้า 97 .
[8] อ้างแล้ว, หน้า 105.
[9] อ้างแล้ว, เล่ม 8 หน้า 119
[10] "وَ یَطُوفُ عَلَیْهِمْ غِلْمانٌ لَهُمْ کَأَنَّهُمْ لُؤْلُؤٌ مَکْنُونٌ"، อัตฏูร, 24.