Please Wait
9192
เกี่ยวกับประเด็นการสมรสระหว่างอิมามฮุเซน (อ.) กับชะฮ์รบานูซึ่งเป็นเชลยศึกของกองทัพมุสลิมนั้น มีหลายทัศนะด้วยกัน เนื่องจากบางรายงานเล่าว่าหญิงคนนี้ถูกจับเป็นเชลยในสมัยการปกครองของอุมัร บ้างกล่าวว่าสมัยอุษมาน อีกทั้งยังระบุนามของท่านและบิดาของท่านไว้แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ ยากที่จะฟันธงว่าภรรยาขอของอิมามฮุเซน (อ.) และมารดาของอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.) เป็นชาวอิหร่าน ( อีกทั้งการที่มีนามว่าชะฮ์รบานู)
เกี่ยวกับประเด็นของการสมรสของอิมามฮุเซน (อ.) กับบุตรีของยัซด์เกิร์ดที่สามนั้น นักประวัติศาสตร์และนักรายงานฮะดีษมีทัศนะที่แตกต่างกันดังนี้
1. เชคศอดู้ก (ร.) ได้รายงานฮะดีษเกี่ยวกับมารดาของอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ว่า ซะฮ์ล บินกอซิม กล่าวว่า “อิมามริฏอ (อ.) กล่าวกับฉันที่คุรอซานว่า “เรากับท่านมีความเกี่ยวดองทางสายเลือดกัน” ฉันได้กล่าวว่า “เกี่ยวดองอย่างไรหรือท่าน?” ท่านตอบว่า “สมัยที่อับดุลลอฮ์ บินอามิร บินกะรีซ ยึดแคว้นคุรอซานได้ เขาได้จับกุมบุตรสาวของยัซเกิร์ด กษัตรย์ของอิหร่านได้สองนาง และได้นำตัวพวกนางมามอบแก่อุษมาน บินอัฟฟาน เขาได้สองนางให้กับอิมามฮาซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ.) ทั้งสองเสียชีวิตหลังคลอดบุตร ภรรยาของอิมามฮุเซน (อ.) ได้ให้กำเนิดท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ก่อนนางจะเสียชีวิต แต่หลังจากที่นางเสียชีวิตลง อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ก็ได้รับการเลี้ยงดูโดยหญิงรับใช้ของอิมามฮุเซน (อ.) นางหนึ่ง[1]” รายงานนี้ระบุว่าบุตรีของยัซด์เกิร์ดถูกส่งตัวมายังมะดีนะฮ์ในยุคของอุษมาน มิไช่ยุคของอุมัร บินคอฏฏ้อบ
เชคอับบาส กุมี กล่าวถึงรายงานดังกล่าวว่า “ฮะดีษบทนี้ขัดกับบทอื่น ๆ ที่ระบุว่าบุตรีของยัซเกิร์ดถูกนำตัวมาในสมัยของอุมัร บินคอฏฏ้อบ ซึ่งฮะดีษเหล่านี้เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือมากกว่า”[2]
2. กุลัยนี (ร.) อธิบายเกี่ยวกับมารดาของอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ด้วยฮะดีษที่ว่า “เมื่อบุตรสาวของยัซด์เกิร์ดถูกนำตัวมามอบแด่อุมัร สตรีชาวมาดีนะฮ์ต่างเบียดเสียดกันจ้องมองนาง และเมื่อนางเข้ามายังมัสยิด ใบหน้านางขาวผ่องประดุจว่าทำให้มัสยิดสว่างไสว อุมัรมองนาง นางรีบปิดใบหน้าและกล่าวว่า “โอ๊ฟ บีรู้จ บอดอ โฮ้รโมซ” อุมัรกล่าวขึ้นว่า “นางได้ด่าทอฉัน” ว่าแล้วก็จ้องเขม็ง อิมามอลี (อ.) กล่าวกับอุมัรว่า “ท่านไม่มีสิทธิจะปองร้ายนาง ท่านควรที่จะมอบสิทธิแก่นางให้สามารถเลือกชายมุสลิมด้วยตนเอง แล้วจึงหักจากบัญชีสินสงครามของชายผู้นั้นจะได้รับ อุมัรได้ให้สิทธิ์นี้แก่นาง นางได้เดินมาและเอามือวางบนศีรษะของอิมามฮุเซน (อ.) อิมามอาลี (อ.) ได้ถามนางว่า “เธอชื่ออะไร?” นางตอบว่า “ญะฮอนชอฮ์” ท่านกล่าวว่า “ชื่อที่เหมาะแก่เธอคือ ชะฮ์รบอนูเยะฮ์”
หลังจากนั้นได้กล่าวกับอิมามฮุเซน (อ.) ว่า “โอ้อบาอับดิลลาฮ์ หญิงคนนี้จะให้กำเนิดบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนหน้าแผ่นดิน และในที่สุดอิมามอาลี บินฮุเซน (อ.) ก็ถือกำเนิดจากนาง โดยได้รับฉายานามว่า “อิบนุลคิยะเราะตัยน์” (บุตรของผู้ถูกคัดเลือกทั้งสอง) เนื่องจากบนีฮาชิมและชนชาติเปอร์เซียเป็นชนที่เลือกสรรโดยอัลลอฮ์ จากอรับและอะญัม”[3]
เนื้อหาและสายรายงานของฮะดีษดังกล่าวถูกวิจารณ์โดยนักวิจัยบางส่วน เช่นการที่ฮะดิษบทนี้รายงานโดย “อัมร์ บินชิมร์” ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่น่าเชื่อถือในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านสายรายงาน[4]
ในแง่ของเนื้อหาก็อาจจะถูกวิจารณ์ได้หลายประเด็นดังนี้
- การที่บุตรีคนหนึ่งของยัซด์เกิร์ดถูกจับเป็นเชลยนั้น ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน
- การที่อิมามฮุเซน (อ.) ได้แต่งงานกับสตรีคนหนึ่งในเวลานั้นเป็นที่เป็นที่น่าเคลือบแคลง เนื่องจากรานงานแรกระบุว่าหญิงผู้นี้ถูกจับเป็นเชลยในการพิชิตแคว้นคุรอซาน อันหมายถึงปีฮ.ศ. 22 ในสมัยของอุษมาน
แต่รายงานที่สองระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของอุมัร และหากเรายึดตามคำพูดนี้ ต้องทราบว่าขณะที่อิหร่านถูกยึดนั้น อิมามมีอายุระหว่าง 10-11 ปี เนื่องจากการยึดอิหร่านเกิดขึ้นในปีที่ 2 ของการปกครองของอุมัร ดังนั้นเป็นไปได้ยากที่อิมามจะสมรสในช่วงอายุดังกล่าว
- ตำราทางประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลแตกต่างกันในกรณีมารดาของอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ทั้งนี้ ยะอ์กูบี (เสียชีวิต 284 ฮ.ศ.)[5], มุฮัมหมัด บินฮะซัน กุมีย์[6], กุลัยนี (เสียชีวิต 329 ฮ.ศ.)[7], มุฮัมหมัด บินฮะซัน ศ็อฟฟาร กุมีย์ (เสียชีวิต 290 ฮ.ศ.), อัลลามะฮ์มัจลิซีย์[8], เชคศอดู้ก (เสียชีวิต 381 ฮ.ศ.)[9] และเชคมูฟีด (เสียชีวิต 413 ฮ.ศ.)[10] เชื่อว่านางเป็นบุตรสาวของยัซด์เกิรด ถึงแม้ว่าจะมีความเห็นต่างกันในประเด็นชื่อของนางก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีทัศนะอื่นที่ระบุไว้ในตำรารุ่นแรกและรุ่นหลังของพี่น้องซุนหนี่มากมายที่เล่าว่านางเป็นชาวเมืองซิซตาน หรือแคว้นสินธุ หรืออาจเป็นชาวคาบุล และมีสายรายงานมากมายไม่ได้กล่าวถึงสถานที่จองจำของนาง เพียงแต่ได้กล่าวว่านางเป็น “อุมมุวะลัด” (สาวใช้ที่มีบุตร) นั้นเอง[11]
บ้างก็เชื่อว่าบิดาของนางเป็นผู้มีชื่อเสียงชาวอิหร่านที่สันนิษฐานว่าชื่อ ซุบฮาน, ซินญาน, นุชญาน หรือชีรูเยะฮ์
หากเราต้องการที่จะวิเคราะห์รายงานเหล่านี้ เราไม่สามารถที่จะพึ่งพาสายรายงานของคำบอกเล่าเหล่านี้แต่อย่างใด เนื่องจากแต่ละสายรายงานไม่มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ หนังสือประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ เช่นหนังสือประวัติศาสตร์ยะอ์กูบี ก็รายงานโดยไม่ได้ระบุถึงแหล่งข้อมูลเลย
ดังนั้น เราจะต้องวิเคราะห์ในแง่เนื้อหาเพียงอย่างเดียว ซึ่งในวิธีนี้เราจะประสบปัญหาต่าง ๆ เช่น:
1. ปัญหาหลักก็คือ รายงานเหล่านี้ไม่สอดคล้องกันในเรื่องชื่อของนางและชื่อบิดา เนื่องจากสายรายงานต่าง ๆระบุว่านางมีชื่อต่างๆดังนี้ ชะฮ์บานู, ซัลลาเคาะฮ์, ฆ็อซซาละฮ์
2. ทัศนะที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับระยะเวลาที่นางได้ถูกจับเป็นเชลยก็เป็นอีกหนึ่งปัญหา ซึ่งบ้างก็เชื่อว่านางเป็นเชลยในสมัยของอุมัร และบ้างก็เชื่อว่าในสมัยอุษมาน และบางคน เช่น เชคมุฟี้ด เชื่อว่าเกิดขึ้นในสมัยของอิมามอลี (อ.)[12]
3. โดยปกติแล้ว หนังสือบางเล่ม เช่น ตารีคเฏาะบะรี และอัลกามิล ของอิบนุอะษี้ร ซึ่งรายงานสงครามต่างๆระหว่างมุสลิมกับเปอร์เซียตามลำดับปี โดยได้ระบุเส้นทางการหลบหนีของยัซด์เกิร์ดที่ไปตามเมืองต่าง ๆ ของอิหร่าน แต่กลับมิได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ราชธิดาถูกจับเป็นเชลยแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าเหตุการณ์ปลีกย่อยอื่นๆ ที่หนังสือดังกล่าวบันทึกไว้เสียอีก
4. เมื่อนักประวัติศาสตร์ประพันธ์รุ่นแรกเช่น มัสอูดีกล่าวถึงบุตรธิดาของยัซด์เกิร์ด เขากล่าวเพียงราชธิดาที่มีนามว่า อัดรัก, ชอฮีน และมัรดอวันด์ ซึ่งไม่มีชื่อใดตรงกับชื่อที่มีรายงานไว้ว่าเป็นชื่อของมารดาอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)เลย อีกทั้งไม่กล่าวถึงการถูกจับเป็นเชลยของพวกนางเลย[13]
อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงเบาะแสและทัศนะต่าง ๆ เกี่ยวกับมารดาของอิมามซัยนุลอาบิดีน กอปรกับประเด็นที่ว่า นักรายงานที่มีชีวิตอยู่ก่อนศตวรรษที่สามส่วนใหญ่เชื่อว่านางเป็นสาวใช้จากแคว้นสินธุ หรือคาบูล[14] ทำให้ไม่สามารถแสดงทัศนะเชิงฟันธงเกี่ยวกับมารดาของอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้[15]
[1] อุยูน อัคบารุร ริฏอ, ภาค 2, หน้า 128, ฮะดีษที่ 6, ตรวจตราโดยซัยยิดมะฮ์ดี ฮุซัยนี ลอญะวาร์ดี, ฮ.ศ.1377, สำนักพิมพ์มิรซอ มุฮัมหมัด ริฏอ มุฮ์ตะดี, พิมพ์ครั้งที่ 1, (คัดมาจากซีดีญามิอุลอะฮาดีษ นู้ร)
[2] กุมี, เชคอับบาซ, มุนตะฮัลอามาล, เล่ม 2, หน้า 30, สำนักพิมพ์ฮิจรัต
[3] อุศูลกาฟี, เล่ม 1, หน้า 467, สำนักพิมพ์ออคุนดี
[4] คุลาเซาะตุลอักวาล ฟี มะริฟะตุรริญาล, บทที่ 2, หน้า 241, คำว่า อัมร์, ดู: ชะฮ์รบานู ภรรยาของอิมามฮุเซน (อ.)
[5] ประวัติศาสตร์ยะอ์กูบี, เล่ม 2, หน้า 303
[6] ประวัติศาสตร์กุม, หน้า 195
[7] อุศูลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 369
[8] บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 46, หน้า 9
[9] อุยูนุ อัคบารุร ริฏอ, เล่ม 2, หน้า 369
[10] อัลอิรชาด, หน้า 492
[11] บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 46, หน้า 9
[12] อัลอิรชาด, หน้า 492
[13] ประวัติของอลี บินฮุเซน (อ.), หน้า 12
[14] ชุอูบียะฮ์, หน้า 305
[15] ดู: มารดาของอิมามซัจญาด