Please Wait
8677
คุณควรหาคำตอบให้ได้ว่าความชอบดังกล่าวเกิดจากความนิยมชมชอบทั่วไป หรือตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล หากตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล นั่นหมายความว่ามัซฮับอื่นๆยังมีข้อบกพร่องอยู่
แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ชัดเจนที่แนวทางชีอะฮ์มีเหนือมัซฮับอื่นๆในอิสลาม กล่าวคือชีอะฮ์ถือว่า อิมามมีภารกิจเสมือนนบีทุกประการ ยกเว้นภารกิจรับวะฮีย์ และยังเชื่อว่าอิมามเป็นแหล่งความรู้ศาสนา (ชี้แจงและพิทักษ์คำสอนอิสลามรวมทั้งอธิบายกุรอาน) และได้รับอำนาจในการควบคุมปรากฏการณ์ต่างๆในโลก อีกทั้งเป็นผู้นำทางการเมืองและสังคม และมีสิทธิขาดในการตัดสินคดีความ อิมามมีความรู้มากกว่าผู้อื่น และชีอะฮ์ทุกคนถือว่าเป็นวาญิบที่จะต้องเคารพเชื่อฟังอิมามโดยดุษณี น่าเสียดายที่มัซฮับอื่นๆ อาทิเช่น มาลิกี หรือ ฮะนะฟี มิได้เชื่อเช่นนี้ เนื่องจากถือว่าการมอบความรักและไว้ใจต่ออะฮ์ลุลบัยต์ก็เพียงพอแล้ว
อย่างไรก็ดี นอกจากจะต้องมีความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์ ยังจะต้องเชื่อฟังคำสอนสั่งของพวกท่านด้วย นี่คือคำสอนที่ระบุไว้ในฮะดีษบทต่างๆที่ปรากฏในตำรับตำราของพี่น้องซุนหนี่เช่นกัน แน่นอนว่าการเชื่อฟังอะฮ์ลุลบัยต์จะส่งผลดีต่อพฤติกรรมของเราอย่างลึกซึ้งทั้งในแง่ปัจเจกและสังคม
น่ายินดีที่คุณชอบแนวทางชีอะฮ์ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การเลือกศาสนาหรือมัซฮับมิใช่เรื่องของรสนิยมความชอบ แต่เป็นหน้าที่ทางสติปัญญา ฉะนั้น จะต้องค้นหาให้ได้ว่า สิ่งใดทำให้คุณชอบแนวทางชีอะฮ์? ลำพังความรู้สึกส่วนตัว หรือเพราะมีหลักฐานและเหตุผลที่น่าเชื่อถือ? หากคุณชอบแนวทางนี้โดยพื้นฐานของเหตุและผล นั่นแสดงว่าคุณเชื่อว่าแนวทางนี้มีจุดแข็งที่แนวทางหรือมัซฮับอื่นๆไม่มี อันจะทำให้ทราบโดยอัตโนมัติว่า มัซฮับอื่นๆมีจุดด้อยตรงใหนบ้าง
จุดเด่นของชีอะฮ์ที่มัซฮับอื่นๆไม่มีก็คือ ทัศนคติเกี่ยวกับภาวะผู้นำและอำนาจปกครองของอะฮ์ลุลบัยต์(วงศ์วาน)ของท่านนบี(ซ.ล.) เราจะขอหยิบยกทัศนคติอันโดดเด่นเกี่ยวกับเรื่องนี้มาพอสังเขปดังนี้
1. ชีอะฮ์ถือว่า อิมามสิบสองท่านซึ่งปรากฏรายนามในฮะดีษของท่านนบี(ซ.ล.)[1]นั้น ปราศจากความผิดพลาด ความหลงลืม หรือบาปกรรมทุกประการ
2. ชีอะฮ์ถือว่า บรรดาอิมามมะอ์ศูม(บริสุทธิจากบาป) มีภารกิจเสมือนนบี(ซ.ล.)ทุกประการ ยกเว้นภารกิจรับวะฮีย์
3. ชีอะฮ์ถือว่า บรรดาอิมามมะอ์ศูม(บริสุทธิจากบาป) คือศูนย์กลางความรู้ทางศาสนา(มีหน้าที่ชี้แจงและพิทักษ์ศาสนา รวมทั้งอรรถาธิบายกุรอาน)
4. ชีอะฮ์ถือว่า บรรดาอิมามมะอ์ศูม(บริสุทธิจากบาป) ได้รับมอบอำนาจควบคุมปรากฏการณ์ต่างๆในโลก
5. ชีอะฮ์ถือว่า บรรดาอิมามมะอ์ศูม(บริสุทธิจากบาป) คือศูนย์กลางอำนาจการปกครอง และเป็นผู้นำสูงสุดของสังคม ตลอดจนมีอำนาจทางตุลาการ และเป็นวาญิบที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยดุษณี
6. ชีอะฮ์ถือว่า บรรดาอิมามมะอ์ศูม(บริสุทธิจากบาป) มีความรู้มากกว่าผู้ใด
แต่น่าเสียดายที่มัซฮับอื่นๆ อาทิเช่น มาลิกี หรือ ฮะนะฟี มิได้เชื่อเช่นนี้ โดยที่ถือว่าเพียงมอบความรักและไว้ใจต่ออะฮ์ลุลบัยต์ก็เพียงพอแล้ว
7. คุณสมบัติจำเพาะที่สำคัญที่สุดของชีอะฮ์คือการเคารพเชื่อฟังท่านอิมามอลี(อ.)และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในทัศนะอิสลาม และได้รับการระบุไว้ในฮะดีษมากมายหลายบทที่รายงานโดยฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ว่า การยอมรับอำนาจปกครองของท่านอิมามอลี(อ.)คือหลักเกณฑ์สำคัญที่อัลลอฮ์จะใช้ในการตัดสินการกระทำของมนุษย์[2]
ท่านนบี(ซ.ล.)เคยกล่าวไว้ว่า “การมองใบหน้าของอลีถือเป็นอิบาดะฮ์ การระลึกถึงอลีถือเป็นอิบาดะฮ์ และความศรัทธาจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อรักอลีและเกลียดชังศัตรูของอลีเท่านั้น”[3]
นัยยะสำคัญของฮะดีษข้างต้นก็คือ แม้แต่อีหม่านยังต้องนำมาพิจารณาร่วมกับความรักต่ออิมามอลี(อ.)และความรังเกียจศัตรูของท่าน แน่นอนว่าอะมั้ลอิบาดะฮ์ก็ต้องได้รับการตัดสินในทิศทางเดียวกัน
อีกฮะดีษหนึ่งที่รายงานโดยผู้รู้ฝ่ายซุนหนี่:
ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “โอ้อลี มาตรว่าผู้ใดทำอิบาดะฮ์ยาวนานเทียบเท่าอายุขัยของนบีนู้ห์ และบริจาคทองคำมหาศาลดุจภูเขาอุฮุด และเดินเท้าไปประกอบพิธีฮัจย์หนึ่งพันหน และแม้ว่าคนผู้นี้จะถูกสังหารระหว่างเนินเขาศ่อฟาและมัรวะฮ์ที่มักกะฮ์ แต่หากเขาไม่ยอมรับวิลายะฮ์ของเธอ โอ้อลี เขาจะไม่ได้รับรางวัลใดๆแม้แต่กลิ่นอายของสรวงสวรรค์ และไม่มีวันได้เข้าสวรรค์เด็ดขาด”[4]
หากต้องการไขคำตอบว่า อะไรคือวิลายะฮ์ของอิมามอลี(อ.) จำเป็นต้องพิจารณาสำนวนของโองการที่กล่าวถึงท่านอิมามอลี(อ.) ดังที่กุรอานกล่าวว่า “วะลีย์(ผู้มีสิทธิ์ขาด)เหนือสูเจ้าคืออัลลอฮ์ และท่านนบี(ซ.ล.) และผู้ศรัทธาที่ดำรงนมาซ และบริจาคทานในขณะโค้งรุกู้อ์เท่านั้น”[5]
แน่นอน คำว่า “วะลีย์” ในที่นี้มิได้แปลว่าผู้ช่วยเหลือหรือมิตรสหาย เพราะหากหมายถึงเพื่อนและผู้ช่วยเหลือ ก็ไม่จำเป็นต้องเจาะจงเฉพาะผู้บริจาคทางขณะโค้งรุกู้อ์เท่านั้น เนื่องจากความรักและการช่วยเหลือถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนอยู่แล้ว มุสลิมทุกคนต้องรักและช่วยเหลือซึ่งกันและกันแม้แต่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีสิ่งใดจะบริจาค นับประสาอะไรที่จะต้องเป็นผู้ที่บริจาคทานขณะโค้งรุกู้อ์เท่านั้น
ฉะนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่า “วะลีย์”ในที่นี้หมายถึงสิทธิความชอบธรรมในการชี้นำและปกครองเชิงรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สิทธิดังกล่าวเชื่อมโยงกับสิทธิของอัลลอฮ์และท่านนบี(ซ.ล.)ในโองการเดียวกัน
ในตำราของฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ก็มีฮะดีษมากมายระบุว่า โองการดังกล่าวประทานลงมาในกรณีของท่านอลี(อ.) ซึ่งฮะดีษบางบทระบุถึงเหตุการณ์การบริจาคแหวนขณะโค้งรุกู้อ์ แต่บางบทก็กล่าวสรุปเพียงว่าโองการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับท่านอลี(อ.)[6]
หากผู้ใดมีทัศนะคติเกี่ยวกับประเด็นผู้นำเสมือนทัศนะคติของชีอะฮ์ วิถีชีวิตของเขาก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างน่าอัศจรรย์ เขาจะไม่พึ่งพาผู้ใดเกี่ยวกับปัญหาศาสนา และไม่ยอมรับอำนาจปกครองทางการเมืองของผู้ใด เว้นแต่อิมามผู้ปราศจากบาปเท่านั้น
แม้ว่าทุกมัซฮับ อาทิเช่น ฮะนะฟีและมาลิกี จะรักและผูกพันกับท่านอิมามอลี(อ.) และวงศ์วานของท่าน(บรรดาอิมามผู้ปราศจากบาป) แต่ทว่า“วิลายะฮ์”ตามความหมายที่สมบูรณ์และสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกุรอานและวจนะท่านนบี(ซ.ล.)มีเฉพาะในแนวทางชีอะฮ์อิมามสิบสองเท่านั้น
แน่นอนว่ามุสลิมทุกคนมีหน้าที่ๆจะต้องเฟ้นหาแนวทางที่สอดคล้องกับกุรอานและวจนะท่านนบี(ซ.ล.)มากที่สุด
[1] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 36,หน้า 362
[2] มะนากิ๊บ คอรัซมี,หน้า,19,252.
[3] อ้างแล้ว,หน้า19,212 และ กิฟายะตุฏฏอลิบ,กันญี ชาฟิอี,หน้า 214.
«... النظر الی وجه امیرالمؤمنین علی بن ابیطالب عبادة و ذکره عبادة ولایقبل الله ایمان عبد الا بولایته والبرائة من اعدائه
[4] … ثم لم یوالیک یا علی لم یشم رائحة الجنة ولم یدخلها" มักตะลุ้ลฮุซัยน์,ค่อฏี้บ คอรัซมี,เล่ม 1,หน้า 37.
[5] อัลมาอิดะฮ์,55. إِنَّما وَلِیُّکُمُ اللَّهُ وَ رَسُولُهُ وَ الَّذِینَ آمَنُوا الَّذِینَ یُقِیمُونَ الصَّلاةَ وَ یُؤْتُونَ الزَّکاةَ وَ هُمْ راکِعُونَ
[6] ตัฟซี้ร เนมูเนะฮ์,เล่ม 4,หน้า 424,425.