Please Wait
9232
กุรอานและฮะดีษห้ามปรามธุรกรรมที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยอย่างชัดเจน โดยได้อธิบายเหตุผลไว้อย่างสังเขป อาทิเช่น ทำลายช่องทางการกู้ยืม เป็นการขูดรีดผู้เดือดร้อน และเป็นเหตุให้สูญเสียการลงทุนในด้านที่สังคมขาดแคลน
เหตุผลข้างต้นล้วนเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยประเภทกู้ยืมทั้งสิ้น ส่วนดอกเบี้ยประเภทซื้อขายแลกเปลี่ยนนั้น เราไม่พบเหตุผลใดๆทั้งในกุรอานและฮะดีษ ทำให้เราไม่อาจจะทราบถึงเหตุผลได้ อย่างไรก็ดี เรายังต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ท่านนบีและบรรดาอิมามกล่าวไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่มีเหตุผลหรือปรัชญาใดๆแฝงอยู่ในเรื่องนี้
ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานเกี่ยวกับเหตุผลของการห้ามดอกเบี้ยประเภทแลกเปลี่ยนว่า อาจเป็นเพราะธุรกรรมดังกล่าวจะถูกใช้เป็นช่องทางหลบเลี่ยงดอกเบี้ยประเภทกู้ยืม หรือกล่าวได้ว่าดอกเบี้ยประเภทแลกเปลี่ยนคือประตูไปสู่ดอกเบี้ยประเภทกู้ยืมนั่นเอง
ประเด็นดอกเบี้ยถือเป็นประเด็นปัญหาที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายในวิชาฟิกเกาะฮ์ โดยกุรอานและฮะดีษได้ระบุชัดเจนว่าธุรกรรมดังกล่าวถือเป็นสิ่งต้องห้าม ริบาอ์(ดอกเบี้ย)มีสองประเภท
1. ดอกเบี้ยประเภทกู้ยืม
2. ดอกเบี้ยประเภทค้าขายแลกเปลี่ยน
ดอกเบี้ยกู้ยืมหมายถึงการกู้ยืมที่มีการตั้งเงื่อนไข แต่ข้อปลีกย่อยที่ว่าอะไรคือเงื่อนไขของการกู้ยืมที่จะทำให้เป็นฮะรอมนั้น ยังมีข้อถกเถียงกันในหมู่ผู้รู้
ส่วนดอกเบี้ยที่คุณถามก็คือประเภทแลกเปลี่ยน อันหมายถึงธุรกรรมที่ ก. มีการแลกเปลี่ยนสินค้าสองชิ้น ข. แลกเปลี่ยนโดยการชั่งตวง ค. สินค้าสองชิ้นนั้นมีปริมาณที่แตกต่างกัน[1]
ดอกเบี้ยแลกเปลี่ยนถือเป็นสิ่งต้องห้าม แม้กระทั่งกรณีที่แลกเปลี่ยนสินค้าที่อาจแตกต่างกันบ้าง(แต่ยังถือว่าอยู่ในประเภทเดียวกัน) ตัวอย่างเช่นการแลกเปลี่ยนข้าวคุณภาพดีหนึ่งกิโลกรัมกับข้าวคุณภาพต่ำหนึ่งกิโลกรัมครึ่ง ก็ยังถือว่าฮะรอม และเช่นกัน คุณลักษณะอื่นๆเช่นความเก่าหรือใหม่ของสินค้า ฯลฯ ซึ่งล้วนเข้าข่ายดอกเบี้ยทั้งสิ้น กรณีแลกเปลี่ยนทองหรือเงินเช่นเดียวกัน กล่าวคือเมื่อจะแลกเปลี่ยนทองสองชิ้นไม่ว่าจะในลักษณะใด (เก่าหรือไม่, รูปพรรณหรือทองแท่ง, มีตำหนิหรือไม่ ฯลฯ) แม้ราคาค่างวดของแต่ละชิ้นจะแตกต่างกัน ก็ยังจะต้องกระทำโดยให้มีน้ำหนักเท่ากันเท่านั้น ทั้งนี้โดยลักษณะเฉพาะของทองและเงินแล้ว จะต้องแลกเปลี่ยนพร้อมกันเท่านั้น ไม่อนุมัติให้แลกเปลี่ยนโดยเชื่อไว้ก่อน[2]
อย่างไรก็ดี ในเมื่อยังมีความจำเป็นจะต้องแลกเปลี่ยนทองเก่ากับทองใหม่อยู่ จึงยังมีช่องทางให้กระทำได้โดยไม่ผิดหลักการศาสนา (แน่นอนว่าการขัดต่อบัญญัติศาสนาย่อมไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน) ช่องทางดังกล่าวก็คือการหลีกเลี่ยงการแลกเปลี่ยนโดยตรง และเปลี่ยนเป็นธุรกรรมสองต่อ นั่นก็คือ ขายทองเก่าไปในราคาหนึ่ง แล้วซื้อทองใหม่ด้วยเงินที่ได้มา อย่างเช่น ชายทองเก่าสิบกรัมไปในราคาเจ็ดพันบาท แล้วซื้อทองใหม่แปดกรัมในราคาเดียวกัน[3]
ต้องเรียนว่าสำหรับผู้ที่ยอมรับบทบัญญัติศาสนาแล้ว นี่ไม่ไช่การใช้เล่ห์เหลี่ยมหลบหลีกบทบัญญัติของอัลลอฮ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนจากวิธีที่ต้องห้ามมาสู่วิธีที่อนุมัติ ดังที่ฮะดีษสอนว่า "การหนีจากฮะรอมสู่ฮะล้าลช่างน่าชมเชยนัก"[4] อันหมายถึงการปรับวิถีชีวิตให้พ้นจากข้อห้ามทางศาสนานั่นเอง
ส่วนที่ว่าเพราะเหตุใดจึงห้ามธุรกรรมดอกเบี้ยนั้น:
ก่อนอื่นต้องเกริ่นนำเช่นนี้ว่า บางครั้งการที่เราทราบเหตุผลของบทบัญญัติต่างๆอาจจะเพิ่มแรงบันดาลใจให้ปฎิบัติตาม แต่ก็อาจจะลดทอนจิตคารวะของคนทั่วไปที่มีต่ออัลลอฮ์ไปบ้าง กล่าวคือ หากทราบเหตุ หรือผลประโยชน์ที่จะได้จากการปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ อาจจะทำให้คนเรากระทำไปเพื่อประโยชน์ส่วนตน มิไช่เพราะศรัทธาในพระองค์อย่างแท้จริง อันจะทำให้สูญเสียคุณค่าของการกระทำอย่างบริสุทธิใจด้วยความจำนน[5] อาจเป็นเพราะเหตุนี้กระมังที่กุรอานและฮะดีษมิได้กล่าวถึงเหตุผลของการบัญญัติกฎเกณฑ์ศาสนาโดยละเอียดนัก แต่กล่าวเพียงบางส่วนเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนเข้าใจโดยสังเขป
แม้เราจะทราบดีว่าบทบัญญัติศาสนาบัญญัติขึ้นบนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของมนุษย์ แต่ก็มักจะเกิดข้อสงสัยหยุมหยิมตลอดเวลา อย่างเช่น เราอาจจะทราบดีถึงผลประโยชน์ของการนมาซ แต่คำถามที่ว่าเหตุใดนมาซจึงมีสองเราะกะอัต หรือการที่หากเราดื่มด่ำกับนมาซแล้วถือวิสาสะเพิ่มเป็นสามเราะกะอัตก็ยังถือเป็นโมฆะนั้น เราไม่อาจทราบเหตุผลเหล่านี้ได้ เนื่องจากปัญญาของมนุษย์อาจสามารถรับรู้เพียงเหตุผลเชิงกว้างของบทบัญญัติศาสนาได้ แต่ไม่อาจหยั่งถึงเหตุผลของรายละเอียดปลีกย่อยได้เลย จะมีก็แต่ความศรัทธาในอัลลอฮ์และนบีเท่านั้นที่ช่วยกระตุ้นให้เราปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ซึ่งความผูกพันเชิงศรัทธานี้แหล่ะที่งดงามและสร้างความอิ่มเอิบทางจิตวิญญาณ
อย่างไรก็ดี กุรอานและฮะดีษได้ระบุถึงเหตุผลบางประการของการห้ามธุรกรรมที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยไว้ดังนี้
1. ธุรกรรมดอกเบี้ยคือการแสวงหาผลกำไรที่ปราศจากเหตุอันควร[6]
2. มีฮะดีษจากอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า "หากธุรกรรมดอกเบี้ยเป็นที่อนุมัติไซร้ ผู้คนจะทิ้งการทำมาค้าขายที่จำเป็นต่อสังคมกันหมด อัลลอฮ์ทรงห้ามกินดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้คนหันไปสนใจธุรกรรมที่ฮะล้าลแทนที่ฮะรอม สนใจการทำมาค้าขาย เพื่อเงินที่คงเหลือจะได้ปล่อยให้ผู้อื่นกู้ยืมได้"[7] ฉะนั้น การกินดอกเบี้ยถูกห้ามเพื่อให้เศรษฐกิจของสังคมคึกคักนั่นเอง
3. หลังจากที่กุรอานระบุข้อห้ามเกี่ยวกับดอกเบี้ยแล้ว ได้กล่าวต่อไปว่า " لا تَظلِمون و لا تُظلَمون[8]" (...เพื่อมิให้สูเจ้าขูดรีดผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นขูดรีด) จากเนื้อหานี้ทำให้ทราบว่าธุรกรรมดอกเบี้ยเป็นการขูดรีด และนี่ก็ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องห้ามธุรกรรมนี้
4. อีกหนึ่งเหตุผลที่ฮะดีษระบุไว้ก็คือ ธุรกรรมดอกเบี้ยจะทำลายจิตสำนึกในการประกอบกุศลกรรม ดังที่มีฮะดีษกล่าวว่า "แท้จริงอัลลอฮ์ทรงห้ามมิให้กินดอกเบี้ยก็เพราะต้องการให้ผู้คนมีจิตกุศล(ให้หยิบยืมกัน)เช่นเคย"[9]
อย่างไรก็ดี เหตุผลที่นำเสนอมาทั้งหมดล้วนกล่าวถึงอันตรายของดอกเบี้ยประเภทกู้ยืมทั้งสิ้น ทว่ามิได้กล่าวถึงเหตุผลที่ห้ามดอกเบี้ยประเภทค้าขายแลกเปลี่ยน หรืออาจจะกล่าวไว้แต่ฮะดีษไม่ตกทอดถึงเรา ประเด็นนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่จะต้องปฎิบัติตามนบีและอิมาม(อ.)โดยดุษณี แต่ทั้งนี้ ผู้รู้อย่างเช่นชะฮีดมุเฏาะฮะรี[10] และอายะตุลลอฮ์มะการิม[11]ได้กรุณาชี้แจงไว้ว่า ปรัชญาของการห้ามดอกเบี้ยประเภทค้าขายแลกเปลี่ยนก็เพื่อป้องปรามมิให้กระทำการกินดอกเบี้ยประเภทกู้ยืม กล่าวคือ ดอกเบี้ยประเภทแลกเปลี่ยนสินค้าถือเป็นประตูไปสู่ดอกเบี้ยประเภทกู้ยืม และเพื่อป้องกันมิให้มีการอำพรางดอกเบี้ยกู้ยืมด้วยธุรกรรมดอกเบี้ยแลกเปลี่ยน จึงต้องระงับดอกเบี้ยประเภทค้าขายแลกเปลี่ยนด้วยการบัญญัติให้เป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน
[1] ดู: ตำราประมวลปัญหาศาสนา บทว่าด้วยการค้าขาย
[2] ดู: ตำราประมวลปัญหาศาสนา บทว่าด้วยการค้าขายทองและเงิน (บัยอุศศ็อรฟ์)
[3] ยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเงื่อนไขของเรื่องนี้ หากประสงค์จะศึกษาเพิ่มเติม กรุณาศึกษาจากตำราเฉพาะทาง
[4] อัลกาฟีย์, เล่ม 5,หน้า 246
[5] อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ไม่รวมถึงปูชณียบุคคลขั้นสูงของพระองค์
[6] ย่อความจากฮะดีษในวะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 12, บทว่าด้วยดอกเบี้ย, หมวดที่ 1, ฮะดีษที่ 11
[7] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 12, บทว่าด้วยดอกเบี้ย, หมวดที่ 1, ฮะดีษที่ 8
[8] บะเกาะเราะฮ์, 279
[9] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 12, บทว่าด้วยดอกเบี้ย, หมวดที่ 1, ฮะดีษที่ 4
[10] มุรตะฎอ มุเฏาะฮารี, ปัญหาดอกเบี้ยและการธนาคาร,หน้า 46
[11] อ. มะการิม ชีรอซี, อัรริบา วัลบันก์ อัลอิสลามีย์, หน้า 60