Please Wait
7047
แม้เหล่าผู้ปราศจากบาปทั้งสิบสี่ท่านจะบรรลุฐานันดรทางจิตวิญญาณอันสูงส่ง แต่อย่างไรก็ดี ท่านเราะซู้ล(ซ.ล.)คือผู้ที่มีสถานะสูงสุด และมีข้อแตกต่างบางประการที่อิมามมะอ์ศูมอื่นๆไม่มี ดังที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า "บรรดาอิมามเปรียบดั่งท่านนบี(ซ.ล.) เพียงแต่มิได้มีสถานะเป็นศาสนทูต และไม่สามารถกระทำบางกิจเฉกเช่นนบี (มีภรรยาเกินสี่คน) แต่เรื่องอื่นๆนั้นเสมือนนบี(ซ.ล.)
เหล่าผู้ปราศจากบาปทั้งสิบสี่ท่านบรรลุฐานันดรทางจิตวิญญาณอันสูงส่งที่สุด ดวงดาราอันเจิดจรัสเหล่านี้อิ่มเอมด้วยวิทยญาณและความไพบูลย์จากอัลลอฮ์ ความผิดพลาดและเผลอไผลไม่อาจจะกร้ำกรายพวกเขาได้ ดังโองการ"แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์จะขจัดมลทินจากสูเจ้า โอ้อะฮ์ลุลบัยต์ และชำระสูเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์"[1] ฉะนั้น ปูชณียบุคคลเหล่านี้จึงอยู่ที่สุดขอบฟ้าความประเสริฐของมวลมนุษย์
อย่างไรก็ดี ท่านเราะซู้ล(ซ.ล.)คือผู้ที่มีสถานะสูงสุด และมีข้อแตกต่างบางประการที่อิมามมะอ์ศูมท่านอื่นๆไม่มี ดังที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า "บรรดาอิมามเปรียบดั่งท่านนบี(ซ.ล.) เพียงแต่มิได้มีสถานะเป็นศาสนทูต และไม่สามารถกระทำกิจบางอย่างได้เฉกเช่นนบี (มีภรรยาเกินสี่คน) แต่เรื่องอื่นๆนั้นเสมือนนบี(ซ.ล.)"[2]
ฉะนั้น ท่านเราะซูลุลลอฮ์(ซ.ล.)จึงเป็นดาวที่เจิดจรัสที่สุดในกลุ่มดวงดาวเหล่านี้ บรรลุฐานันดรที่สูงส่งที่สุด และตระหง่านอยู่ ณ จุดสูงสุดแห่งความใกล้ชิดพระเจ้า ดังที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)[3]กล่าวไว้ว่า "ท่านเราะซู้ล(ซ.ล.)คือศาสนทูตท่านแรกที่ขานรับเสียงเพรียกจากเบื้องบน (ในมิติแห่ง"ซัร") ท่านใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด และบรรลุจิตถึงขั้นที่ไม่มีมะลาอิกะฮ์ชั้นสูงองค์ใด และไม่มีศาสนทูตระดับสูงท่านใดไปถึง เป็นสถานะที่อัลลอฮ์ทรงอุปมาความใกล้ชิดว่า " فکان قاب قوسین او ادنی "[4] ท่านคือผู้ที่ก้าวข้ามทุกระดับขั้นทางจิตวิญญาณจนถึงขั้นสูงสุดในคืนเมี้ยะรอจเพียงคืนเดียว ในหมู่ผู้ปราศจากบาปมีท่านเพียงผู้เดียวที่สื่อสารกับพระองค์ได้โดยผ่านช่องทางวิวรณ์ คัมภีร์กุรอานประทานแก่ท่าน ท่านคือผู้เผยแพร่ศาสนาและเนี้ยะมัตที่สมบูรณ์ที่สุดให้เป็นของกำนัลแก่มนุษยชาติ ท่านคือผู้ที่ยกระดับจริยวัตรอันงดงามสู่จุดสูงสุด[5] ท่านเป็นผู้เดียวที่อัลลอฮ์ มลาอิกะฮ์ และมวลผู้ศรัทธาเทิดเกียรติให้อย่างถาวร[6]
คุณสมบัติเหล่านี้แต่ละประการชี้ให้เห็นถึงสถานภาพอันจำเพาะของท่านนบี(ซ.ล.) ท่านอิมามบากิร(อ.)พรรณาไว้อย่างงดงามถึงสถานะอันสูงส่งของมะอ์ศูมีนแต่ละท่านว่า "ต้นไม้อันประเสริฐ[7]ก็คือท่านเราะซูลุลลอฮ์(ซ.ล.)... อิมามอลี(อ.)เปรียบดังกิ่ง ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เปรียบดังก้าน และเหล่าอิมามที่สืบเชื้อสายจากอิมามอลี(อ.)และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ก็เปรียบดังผลไม้"[8]
วจนะอันงดงามดังกล่าวได้ฉายภาพความสูงส่งของเหล่ามะอ์ศูมีนได้อย่างละเมียดละไม
ท้ายนี้ขอเน้นย้ำว่า การรู้จักสถานภาพและความยิ่งใหญ่ของบรรดามะอ์ศูมีน(อ.)เป็นหน้าที่ที่สำคัญยิ่งสำหรับเรา พึงระวังว่าไม่ควรละเลยหรือสุดโต่งในประเด็นนี้เด็ดขาด เพราะทั้งสองทิศทางล้วนผิดมหันต์ ดังที่ท่านอิมามอลี(อ.)กล่าวไว้ในหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ว่า "มีบุคคลสองจำพวกที่จะพินาศเพราะฉัน หนึ่ง พวกที่สุดโต่งในความรักฉัน(และยกให้ฉันเป็นพระเจ้า) สอง พวกที่จงเกลียดจงชังฉัน[9]" ฉะนั้น เราจึงมีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจขอบเขตสถานะโดยจะต้องยึดแนวทางอันทอดยาวสู่ความผาสุกของเหล่ามะอ์ศูมีน(อ.) อีกทั้งต้องระมัดระวังมิให้สุดโต่งหรือละเลยความสำคัญของบุคคลเหล่านี้
หวังว่าพวกเราทุกคนจะได้รับกรุณาธิคุณจากอัลลอฮ์ให้พบหนทางศิรอฏ้อลมุสตะกีม และพ้นจากความเฉื่อยชาและความเฉไฉในหนทางนี้
[1] ซูเราะฮ์อะฮ์ซาบ,33
[2] عِدَّةٌ مِنْ أَصْحَابِنَا عَنْ أَحْمَدَ بْنِ مُحَمَّدٍ عَنِ الْحُسَیْنِ بْنِ سَعِیدٍ عَنْ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ بَحْرٍ عَنِ ابْنِ مُسْکَانَ عَنْ عَبْدِ الرَّحْمَنِ بْنِ أَبِی عَبْدِ اللَّهِ عَنْ مُحَمَّدِ بْنِ مُسْلِمٍ قَالَ سَمِعْتُ أَبَا عَبْدِ اللَّهِ ع یَقُولُ الْأَئِمَّةُ بِمَنْزِلَةِ رَسُولِ اللَّهِ ص إِلَّا أَنَّهُمْ لَیْسُوا بِأَنْبِیَاءَ وَ لَا یَحِلُّ لَهُمْ مِنَ النِّسَاءِ مَا یَحِلُّ لِلنَّبِیِّ ص فَأَمَّا مَا خَلَا ذَلِکَ فَهُمْ فِیهِ بِمَنْزِلَةِ رَسُولِ اللَّهِ อุศูลุลกาฟีย์,เล่ม 1,หน้า 270 และ มิรอาตุ้ลอุกู้ล,เล่ม 3,หน้า 161
[3] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 5,หน้า 236
[4] ชิดใกล้กว่าสองคันธนูหรือใกล้กว่านั้น, อันนัจม์,9
[5] انما بعثت لاتمم مکارم الاخلاق บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 16,หน้า 210
[6] [6] ان الله و ملائکته یصلون علی النبی یا ایها الذین آمنوا صلوا علیه وسلموا تسلیماً อัลอะฮ์ซาบ,56
[7] کشجرة طبیه اصلها ثابت و فرعها فی السماء อิบรอฮีม, 24
[8] ] أَبِی عَنِ ابْنِ مَحْبُوبٍ عَنْ أَبِی جَعْفَرٍ الْأَحْوَلِ عَنْ سَلَّامِ بْنِ مُسْتَنِیرٍ عَنْ أَبِی جَعْفَرٍ ع قَالَ سَأَلْتُهُ عَنْ قَوْلِ اللَّهِ تَعَالَى مَثَلًا کَلِمَةً طَیِّبَةً الْآیَةَ قَالَالشَّجَرَةُ رَسُولُ اللَّهِ ص وَ نَسَبُهُ ثَابِتٌ فِی بَنِی هَاشِمٍ وَ فَرْعُ الشَّجَرَةِ عَلِیُّ بْنُ أَبِی طَالِبٍ ع وَ غُصْنُ الشَّجَرَةِ فَاطِمَةُ ع وَ ثَمَرَاتُهَا الْأَئِمَّةُ مِنْ وُلْدِ عَلِیٍّ وَ فَاطِمَةَ ع شجرة رسول الله نسبة ثابت فی بنی اثم و فرع الشجرة علی بن ابیطالب و غض الشجرة فاطمه (س) و ثمراتها الائمة من ولد علی و فاطمه (ع) و ... บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 9,หน้า 218
[9] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,กะลิม้าต กิศ้อร,ลำดับที่ 113