Please Wait
8246
คำถามนี้ไม่มีคำตอบแบบสั้น ปรดเลือกปุ่มคำตอบที่สมบูรณ์
ตำราอ้างอิงบางเล่มรายงานฮะดีษที่ระบุว่าญินและมะลาอิกะฮ์ต่างก็เสนอตัวเพื่อช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน(อ.)
อย่างไรก็ดี พระองค์เคยส่งมะลาอิกะฮ์หรือญินมาช่วยเหลือบรรดานบี(อ.)ครั้งแล้วครั้งเล่า กุรอานกล่าวว่า "(จงรำลึกเถิด)เมื่อสูเจ้าวอนขอการช่วยเหลือจากพระองค์(เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในสงครามบะดัร) และพระองค์ทรงตอบรับ (และกล่าวว่า) ข้าจะช่วยเหลือสูเจ้าด้วยมะลาอิกะฮ์พันองค์ที่ลงมาเป็นลำดับ"
เหตุผลบางประการที่ทำให้ท่านไม่อาจรับความช่วยเหลือดังกล่าวได้ก็คือ
1. ท่ามกลางวิกฤติการณ์ในยุคของท่าน การฟื้นฟูประชาชาติของท่านนบี(ซ.ล.) จะเกิดขึ้นได้ด้วยการพลีชีพเท่านั้น
2. ความปรารถนาจะบรรลุถึงพระองค์
3. การพลีเป็นสิ่งที่กำหนดไว้แล้ว
4. การเป็นชะฮีดคือความตายที่มีคุณค่าและงดงามยิ่งสำหรับท่าน
5. เพื่อให้ปฏิบัติภารกิจที่พระองค์มอบหมายอย่างเป็นธรรมชาติ
คำตอบเชิงรายละเอียด:
การประทานความช่วยเหลือแก่อิมามฮุเซน(อ.)
ตำราอ้างอิงบางเล่มรายงานฮะดีษจากบรรดามะอ์ศูมีน โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ญินและมะลาอิกะฮ์แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน(อ.) เป็นต้นว่า เชคมุฟี้ด รายงานถึงอิมามศอดิกว่า ขณะที่อิมามฮุเซน(อ.)เดินทางออกจากมะดีนะฮ์ มีมะลาอิกะฮ์กลุ่มหนึ่ง และญินกลุ่มหนึ่งที่เป็นมุสลิมผู้สวามิภักดิ์ต่อท่าน ต่างแสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน(อ.) แต่ท่านอิมามตอบกลุ่มเหล่านั้นว่า "ขอพระองค์ทรงตอบแทนความดีของพวกท่าน ฉันต้องรับผิดชอบภารกิจของตนเอง โดยมีการกำหนดเวลาและสถานที่ที่ฉันจะถูกสังหารไว้แล้ว" เหล่าญินกล่าวว่า "หากมิไช่เพราะท่านกำชับไว้ เราจะฆ่าศัตรูของท่านให้หมดสิ้น" ท่านอิมามตอบว่า "พวกเราสามารถกระทำการดังกล่าวได้ดีกว่าพวกท่าน แต่เราไม่เลือกที่จะกระทำ เนื่องจากต้องการให้ผู้ฉ้อฉลไม่มีข้ออ้างใดๆอีก และเพื่อให้การน้อมรับสัจธรรมเป็นไปด้วยเหตุผลและชัดเจน" [1]
นอกจากนี้ อิมามศอดิก(อ.)ยังกล่าวอีกว่า "ฉันเคยได้ยินพ่อเล่าว่า ขณะที่ท่านอิมามฮุเซนเผชิญหน้ากับอุมัร บิน สะอ์ด และสงครามกำลังจะเริ่มขึ้นนั้น อัลลอฮ์ได้ส่งการช่วยเหลือมายังท่านถึงขนาดที่กลายเป็นร่มเงาเหนือศีรษะของท่าน ท่านอิมามมีทางเลือกสองทางระหว่างชัยชนะเหนือศัตรูกับการบรรลุถึงพระผู้เป็นเจ้า และท่านเลือกที่จะบรรลุถึงพระองค์"[2]
ฮะดีษบางบทก็ระบุว่า มวลมะลาอิกะฮ์แสดงความพร้อมที่จะช่วยเหลืออิมามฮุเซน(อ.) โดยครั้งแรก พวกเขาขออนุญาตร่วมรบ แต่ท่านไม่อนุญาต เมื่อมะลาอิกะฮ์เหล่านี้กลับมาเป็นครั้งที่สองก็พบว่าท่านเป็นชะฮีดไปแล้ว ตัวอย่างฮะดีษประเภทนี้ได้แก่ฮะดีษจากอิมามศอดิก(อ.)ที่ว่า "มะลาอิกะฮ์สี่พันองค์ลงมาเพื่อจะร่วมรบเคียงข้างท่านอิมามฮุเซน(อ.) แต่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อเมื่อลงมาอีกครั้งก็พบว่าอิมามฮุเซน(อ.)ถูกสังหารไปแล้ว..."[3]
สรุปคือ เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นจริง และมีการระบุไว้ชัดเจนในฮะดีษหลายบท โดยไม่มีผู้รู้ท่านใดปฏิเสธ ทั้งนี้ก็เนื่องจากมิได้ขัดต่อคำสอนหรือหลักศรัทธาข้อใดในอิสลาม อย่างไรก็ดี การที่พระองค์จะช่วยเหลือผ่านมะลาอิกะฮ์หรือกลุ่มญินนั้น เคยเกิดขึ้นในยุคของนบีท่านก่อนๆมาแล้ว กุรอานกล่าวว่า "(จงรำลึกเถิด)เมื่อสูเจ้าวอนขอการช่วยเหลือจากพระองค์ (เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในสงครามบะดัร) และพระองค์ทรงตอบรับ (และกล่าวว่า) ข้าจะช่วยเหลือสูเจ้าด้วยมะลาอิกะฮ์พันองค์ที่ลงมาเป็นลำดับ"[4] และดังกรณีการช่วยเหลือที่มุสลิมได้รับในสงครามอะห์ซาบ แต่บางกรณี การช่วยเหลือประเภทดังกล่าวก็ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากความเหมาะสมบางประการ
เหตุใดท่านอิมามฮุเซน(อ.)จึงปฏิเสธการช่วยเหลือดังกล่าว?
สันนิษฐานว่าท่านอิมามฮุเซน(อ.)ไม่ยอมรับการช่วยเหลือดังกล่าวด้วยเหตุผลต่อไปนี้
1. เมื่อพิจารณาถึงสภาวะทางการเมืองในยุคของมุอาวิยะฮ์และยะซีด ซึ่งมีการกระทำผิดหลักศาสนาภายใต้หน้ากากของผู้พิทักษ์ศาสนา ทำให้ยากแก่การแยกแยะความถูกต้องออกจากการบิดเบือน หนทางเดียวที่จะสามารถฟื้นฟูศาสนาของอัลลอฮ์ได้ก็คือ การพลีชีวิตของอิมามฮุเซน(อ.) และญาติมิตรเท่านั้น[5]
2. ฮะดีษหลายบทบ่งบอกว่าท่านอิมามฮุเซน(อ.)ได้รับการลิขิตให้เป็นชะฮีด เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายในการฟื้นฟูประชาชาติของท่านนบี(ซ.ล.)[6]ให้เป็นผลสำเร็จ
3. อิมามฮุเซน(อ.)ถือว่าการเป็นชะฮีดคือการสิ้นชีพที่งดงามที่สุด สังเกตุได้จากคุตบะฮ์ของท่านขณะเดินทางจากมักกะฮ์สู่แผ่นดินอิรักที่ว่า "ความตายมีความงดงามสำหรับเผ่าพันธุ์นบีอาดัมเสมือนสร้อยที่ประดับประดาต้นคอหญิงสาว"[7] กล่าวคือ ความตายไม่ไช่สิ่งน่าเกลียดน่ากลัว แต่เป็นเครื่องประดับเสมือนสร้อยคอ แน่นอนว่าคนเราย่อมเลือกความตายในหนทางของอัลลอฮ์มาประดับประดาตนเอง สำหรับอิมามฮุเซน(อ.)แล้ว ความตายลักษณะนี้มีรสหอมหวานดุจน้ำผึ้ง[8] การเป็นชะฮีดมิไช่ภยันตราย ที่จะต้องร้องขอให้มะลาอิกะฮ์ช่วยให้พ้นภัยพาน ทว่าเป็นความสมบูรณ์ ดังกรณีของนบีอิบรอฮีม(อ.)ที่ถือว่าการเป็นชะฮีดคือความสมบูรณ์ ทำให้ไม่กลัวกองเพลิงและไม่ยอมขอความช่วยเหลือจากญิบรออีล เพราะท่านรำลึกถึงพระองค์ตลอดเวลา[9]
4. การบรรลุถึงพระเจ้าและโอกาสที่จะได้พบบรรดานบีเป็นสิ่งที่ท่านอิมามฮุเซน(อ.)ปรารถนายิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ยุคนั้น ดังที่ท่านกล่าวในคุตบะฮ์ที่มักกะฮ์ว่า "ความปรารถนาจะได้พบบรรพบุรุษของฉัน เสมือนความปรารถนาของนบียะอ์กู้บที่อยากพบนบียูซุฟ"[10]
5. อิมามฮุเซน(อ.)ไม่ประสงค์ที่จะใช้อภินิหาร ทั้งที่ท่านสามารถจะกำราบศัตรูได้ด้วยมุอ์ญิซาตหรืออภินิหารที่พระองค์ประทานให้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากมวลมะลาอิกะฮ์หรือเหล่าญินเลยแม้แต่น้อย แต่การใช้อภินิหารย่อมขัดต่อวิถีของปุถุชนทั่วไปที่ท่านอิมามยึดถือ เกียรติยศที่ท่านอิมามฮุเซน(อ.) มีในสายตาของมวลมุสลิมและเหล่าผู้เรียกร้องเสรีภาพทั่วไป ล้วนได้มาจากการที่ท่านต่อสู้ด้วยวิธีปกติ
การที่ท่านเดินทางพร้อมด้วยเครือญาติ เพื่อไปเผชิญหน้ากับศัตรูที่มีกำลังพลมากกว่าหลายเท่า การที่เครือญาติของท่านตกเป็นเชลยศึกและถูกหมิ่นศักดิ์ศรีต่างๆนานา เหล่านี้เป็นเหตุให้การต่อสู้ของท่านเป็นอมตะ
[1] อัลลามะฮ์มัจลิซี, บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 44,หน้า 330, สถาบันอัลวะฟาอ์, เบรุต เลบานอน
[2] ซัยยิด อิบนิ ฏอวู้ส, ลุฮู้ฟ, หน้า 141, แปล: มีร อบูฏอลิบี และซัยยิด อบุลฮะซัน, สำนักพิมพ์ ดะลีเลมอ, กุม, พิมพ์ครั้งแรก
[3] เชคศ่อดู้ก, อะมาลี, แปล: มุฮัมมัด บากิร โคมเระอี, หน้า 638, อิสลามียะฮ์, เตหราน ... ยังมีฮะดีษที่คล้ายกันนี้ในกาฟีย์ด้วย, อัลกาฟีย์, เล่ม 1,หน้า 283,284
[4] อัลอันฟ้าล, 9
[5] ดู: มุฮัมมัดตะกี มิศบาห์ ยัซดี, สายฟ้าจากท้องฟ้ากัรบะลา, จากหน้า 44-66, สำนักพิมพ์สถาบันศึกษาและวิจัย อิมามโคมัยนี
[6] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 44,หน้า 329
[7] อ้างแล้ว,เล่ม 44,หน้า 366 และ มุฮัดดิษ อัรดะบีลี, กัชฟุ้ลฆุมมะฮ์ ฟี มะอ์ริฟะติลอะอิมมะฮ์,เล่ม 2,หน้า 29 และ ลุฮู้ฟ,หน้า 110,111
[8] ดู: อ.อับดุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี, ความเจริญของปัญญาด้วยแสงแห่งการต่อสู้ของอิมามฮุเซน,หน้า 28-30
[9] อ้างแล้ว,หน้า 27
[10] บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 44,หน้า 366 และ กัชฟุลฆุมมะฮ์ ฟี มะอ์ริฟะติลอะอิมมะฮ์,เล่ม 2,หน้า 29 และ ลุฮุ้ฟ,หน้า 110,111