Please Wait
7282
เราไม่พบฮะดีษใดๆที่มีเนื้อหาเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ในตำราตัฟซี้รเชิงฮะดีษ มีฮะดีษหลายบทที่อรรถาธิบายโองการ فإذا فرغت فأنصب وإلی ربک فارغب ว่า "เมื่อเจ้า(นบี)ปฏิบัติภารกิจศาสนทูตลุล่วงแล้ว ก็จงแต่งตั้งอลี(อ.)เป็นผู้นำเหนือปวงชน" หรือฮะดีษที่อธิบายโองการแรกของซูเราะฮ์นี้ ที่รายงานจากอิมามศอดิก(อ.)ว่า "ประเด็นวิลายัตของอิมามอลี(อ.)เป็นปัจจัยในการเปิดหัวใจท่านนบี(ซ.ล.)"
ในแง่ของสายรายงาน ฮะดีษเหล่านี้จัดว่าเศาะฮี้ห์ เนื่องจากในสายรายงานฮะดีษนี้มีนักรายงานที่เป็นที่ไว้วางใจของผู้เชี่ยวชาญด้านริญ้าลเป็นพิเศษ อาทิเช่น อิบนิ อบีอุมัยร์ ผู้เป็นหนึ่งในนักรายงานนามอุโฆษ อย่างไรก็ดี ตำราฮะดีษหลายเล่มได้แบ่งหมวดความประเสริฐของอิมามอลี(อ.)เป็นการเฉพาะอันมีเนื้อหาคล้ายกันนี้ อาทิเช่น หมวดว่าด้วยการแต่งตั้งท่านอิมามอลี(อ.)ในบทอัลฮุจญะฮ์ของหนังสืออุศูลุลกาฟีย์ นอกจากนี้หมวดที่39 หนังสือบิฮารุลอันว้าร เล่มที่ 36 ก็ได้อัญเชิญโองการที่เกี่ยวกับท่านอิมามอลี(อ.)ไว้
อนึ่ง ฮะดีษประเภทนี้เพียงแค่เผยบุคคลตัวอย่างในโองการเท่านั้น มิได้มีจุดประสงค์อธิบายเชิงตีความแต่อย่างใด
เราไม่พบฮะดีษใดในหนังสืออัลกาฟีย์หรือตำราอื่นๆที่มีเนื้อหาดังที่ถามมา (เราได้บันดาลให้อลี(อ.)ลูกเขยของเจ้า(นบี)ได้รับการบันทึกไว้ในซูเราะฮ์อินชิร้อห์) อย่างไรก็ดี ตำราตัฟซี้รเชิงฮะดีษอย่าง ตัฟซี้รอัลบุรฮาน หรือตัฟซี้รนูรุษษะเกาะลัยน์ ได้อรรถาธิบายซูเราะฮ์อัลอินชิรอห์โดยได้นำเสนอฮะดีษบางบทที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับท่านอิมามอลี(อ.) เป็นต้นว่า มีฮะดีษประเภทนี้สิบเจ็ดบทในตัฟซี้รบุรฮาน ซึ่งเราจะหยิบยกมาวิเคราะห์ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด
1. มุฮัมมัด บิน ฮะซัน ศ็อฟฟ้าร รายงานจาก อะห์มัด บิน มุฮัมมัด จาก อิบนิ อบี อุมัยร์ จาก ญะมี้ล จาก ฮะซัน บิน รอชิด จากอิมามศอดิก(อ.) โดยท่านกล่าวถึงโองการแรกของซูเราะฮ์อัลอินชิร้อห์" ألم نشرح لک صدرک" และอธิบายว่า " بولایة امیرالمؤمنین (ع). " หมายความว่าท่านนบีได้รับเปิดหัวใจให้ปลอดโปร่งด้วย(การสืบทอด)ตำแหน่งผู้นำโดยอิมามอลี(อ.)[1]
2. มีฮะดีษอีกบทที่รายงานจากมุฮัมมัด บิน ฮัมมาม จาก อิบรอฮีม บิน ฮาชิม จาก อิบนิ อบี อุมัยร์ ความว่า ท่านอิมามศอดิก (อ.)กล่าวอธิบายโองการดังกล่าวว่า " بعلی فاجعله وصیاً" กล่าวคือ หัวใจของท่านนบีปลอดโปร่งโดยกำลังใจจากอิมามอลี(อ.) เสมือนพระองค์ทรงตรัสว่า "โอ้ศาสนทูต(ซ.ล.)เอ๋ย เรามิได้เปิดหัวอกของเจ้าด้วยอลีกระนั้นหรือ ฉะนั้น จงตั้งให้เขาเป็นตัวแทนของเจ้า" ท่านอิมามยังได้อธิบายโองการ فإذا فرغت فانصب ว่า "อัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ท่านนบี(ซ.ล.)ประกอบศาสนกิจนมาซ ซะกาต ถือศีลอด ฮัจย์ ฯลฯ และทรงบัญชาว่า เมื่อเจ้าเสร็จสิ้นภารกิจเหล่านี้ก็จงแต่งตั้งอลี(อ.)ให้เป็นตัวแทนของเจ้า"[2]
3. รายงานจากมุฟัฎฎ็อล บิน อุมัรว่า ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า " فإذا فرغت فانصب علیاً بالولایة"(เมื่อเจ้าเสร็จสิ้นก็จงแต่งตั้งอลี(อ.)ให้เป็นผู้นำ)[3]
ฮะดีษสามบทข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ยังมีฮะดีษในตำราตัฟซี้รเชิงฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงความประเสริฐของท่านอิมามอลี(อ.) อย่างไรก็ดี ฮะดีษที่อธิบายซูเราะฮ์อินชิร้อห์ทั้งหมดล้วนมีเนื้อหาคล้ายกันนี้ทั้งสิ้นที่ว่า การเปิดหัวใจของท่านนบี(ซ.ล.)กระทำโดยวิลายะฮ์ของอิมามอลี(อ.) ดังที่ความสมบูรณ์ของอิสลามขึ้นอยู่กับการแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งตัวแทนท่านนบี
เกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของฮะดีษบทนี้ ต้องเรียนว่าสายรายงานของฮะดีษนี้มีนักรายงานฮะดีษอย่าง อิบนิ อบี อุมัยร์ ปรากฏอยู่ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นนักรายงานนามอุโฆษที่ผู้เชี่ยวชาญวิชาริญ้าลต่างให้การยอมรับ[4] อีกทั้งจำนวนฮะดีษชุดนี้ก็มีมากเสียจนไม่เหลือข้อกังขาใดๆ
ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจก็คือ ฮะดีษที่มีเนื้อหาอธิบายโองการกุรอานมีลักษณะอย่างไร? พึงทราบว่าฮะดีษมากมายที่ปรากฏตามตัฟซี้รเชิงฮะดีษเช่น นูรุษษะเกาะลัยน์, บุรฮาน (ซึ่งฮะดีษประเภทนี้รู้จักกันในนาม"ฮะดีษตัฟซี้ร")นั้น หาได้ตีความเนื้อหาของโองการไม่ เพราะการตีความหมายถึงการแจกแจงความหมายของคำและประโยคในโองการ ซึ่งฮะดีษประเภทดังกล่าวมิได้มีคุณสมบัติเช่นนี้ แต่เป็นการเทียบเนื้อหากับตัวบุคคล หรือคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมที่สุดในกรณีที่มีหลายคนเท่านั้น ฉะนั้น ในกรณีที่ฮะดีษประเภทนี้ผ่านการพิสูจน์สายรายงานแล้วว่าเชื่อถือได้ ก็มิได้ทำให้นัยยะของโองการกุรอานแคบลงแต่อย่างใด ทั้งนี้เนื่องจากการเน้นบุคคลอันเป็นภาพลักษณ์พิเศษของโองการ หาได้ปิดกั้นมิให้หมายรวมบุคคลอื่นๆเข้ามาในกรอบเนื้อหาของโองการไม่ ความหมายของโองการยังคงครอบคลุมเช่นเดิม[5]
จากข้อชี้แจงดังกล่าวทำให้ทราบว่า นัยยะของฮะดีษชุดที่เรากล่าวถึงนี้ก็คือ "วิลายัตของท่านอิมามอลี(อ.)ถือเป็นหนึ่งในการเปิดดวงใจท่านนบี(ซ.ล.)อย่างเป็นรูปธรรม"
อย่างไรก็ดี ยังมีทัศนะที่เห็นต่างไปจากนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากหนังสือ การรู้จักกุรอาน[6] โดยอายะตุลลอฮ์เฆรอมี
[1] ซัยยิดฮาชิม ฮุซัยนี บะฮ์รอนี, อัลบุรฮาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน, เล่ม 4,หน้า 474,สำนักพิมพ์ อิสมาอีลียอน
[2] เพิ่งอ้าง, และ ดู: ตะอ์วีลุล อายาติซซอฮิเราะฮ์, หน้า 787, และ บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 36,หน้า136
[3] อัลบุรฮาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน, เล่ม 4,หน้า 475 และ ดู: อัลกาฟีย์,เล่ม 1,หน้า 294,ฮะดีษที่ 3
[4] เชคมุฮัมมัด มุซ็อฟฟะรี, อัลฟะวาอิดุรริญาลียะฮ์, สำนักพิมพ์อิลมียะฮ์,กุม, หน้า 73
[5] ญะวาดี ออโมลี, ตัฟซีร ตัสนีม, เล่ม1,หน้า 168, ศูนย์การพิมพ์ อิสรออ์
[6] ในหนังสือเล่มนี้มีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการขยายความหมายศัพท์กุรอานเปรียบเทียบกับศัพท์ทั่วไป