Please Wait
6280
ความเชื่อของชีอะฮ์ คือ
1. ตำแหน่งคิลาฟะฮ์เป็นตำแหน่งที่พระองค์อัลลอฮ์เป็นผู้แต่งตั้งเอง และท่านศาสดา(ซ.ล.)ก็ได้รับคำสั่งจากพระองค์ให้ประกาศในหมู่มุสลิมหลายต่อหลายครั้งว่าท่านอลี(อ.)คือตัวแทนภายหลังจากท่าน
2. ตัวแทนของท่านศาสดา (ซ.ล.) มี 12 ท่าน และสำนวน “อิษนาอะชะร่อคอลีฟะฮ์” ปรากฏอยู่ในตำรับตำราของทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนหนี่อย่างชัดเจน ตัวแทนคนแรกคือท่านอิมามอลี บินอะบีฏอลิบ (อ.) และคนสุดท้ายคือท่านฮุจญะฮ์ บินฮาซันอัลอัสการี (อ.) นั่นเอง
3. ถึงแม้ว่าท่านอลี(อ.)เป็นคอลีฟะฮ์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮ์และท่านศาสดา(ซ.ล.) แต่แม้ในสมัยที่มีปัจจัยบางประการเป็นอุปสรรคไม่ให้ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ ครั้นเมื่อท่านเล็งเห็นภยันตรายจากภายนอกที่อาจคุกคามอิสลามและมุสลิม ท่านตัดสินใจให้คำปรึกษาและชี้แนะด้วยความชาญฉลาดและความปรารถนาดีแก่บรรดาคอลีฟะฮ์มาโดยตลอด โดยไม่ปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญกับเหล่าศัตรูของอิสลามอย่างโดดเดี่ยว
ความเชื่อของชีอะฮ์เกี่ยวกับประเด็นคิลาฟะฮ์และตัวแทนหลังจากท่านศาสดา(ซ.ล.)มีดังนี้
1. อิมามและตัวแทนของท่านศาสดา (ซ.ล.) มีหน้าที่และภารกิจเฉพาะตัว หน้าที่ๆสำคัญที่สุดของอิมามภายหลังท่านศาสดา(ซ.ล.)ก็คือ “อรรถาธิบายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน, แจกแจงบทบัญญัติศาสนา, ควบคุมไม่ให้สังคมหันเหไปในทางที่ผิด, ตอบคำถามทางศาสนาและหลักศรัทธา, สร้างความยุติธรรมในสังคม, ปกป้องอาณาเขตของอิสลามให้รอดพ้นจากศัตรู”
2. อิมามและตัวแทนของท่านศาสดา (ซ.ล.) จะต้องมีความรู้และจริยธรรมที่บ่งบอกว่าได้รับความการุณย์พิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า และได้รับการฟูมฟักจากเบื้องบน กล่าวคือจะต้องห่างไกลจากความผิดพลาด การหลงลืม หรือแม้แต่การพลั้งเผลอ อีกทั้งยังต้องปราศจากความผิดบาปทั้งมวลเฉกเช่นท่านศาสดา(ซ.ล.) ด้วยเหตุนี้การคัดเลือกและแต่งตั้งอิมามจะต้องมาจากอัลลอฮ์แต่เพียงผู้เดียว โดยมีท่านศาสดา(ซ.ล.)หรืออิมามก่อนหน้านั้นเป็นสื่อกลาง
3. ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้แต่งตั้งอิมามและผู้นำภายหลังจากท่านแล้ว กล่าวคือ ท่านปฏิบัติภารกิจอันยิ่งใหญ่โดยได้กำหนดให้ท่านอิมามอลี บินอะบีฏอลิบ(อ.)เป็นตัวแทนหลังจากท่านในหลายๆวาระโอกาส ด้วยเหตุนี้ ท่านอลี(อ.)จึงถือว่าตนเป็นอิมามและคอลีฟะฮ์ที่ถูกต้องชอบธรรมหลังจากท่านศาสดา(ซ.ล.) และพร่ำตักเตือนให้สังคมมุสลิมและบรรดาคอลีฟะฮ์ตระหนักอยู่เสมอในวาระโอกาสต่างๆว่า คิลาฟะฮ์เป็นตำแหน่งที่ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และท่านศาสดา(ซ.ล.)ได้แจ้งไว้ครั้งแล้วครั้งเล่า
4. ตัวแทนของท่านศาสดา (ซ.ล.) มี 12 ท่าน และสำนวน “อิษนาอะชะร่อ คอลีฟะฮ์” มีปรากฏในตำรับตำราของทั้งซุนนีและชีอะฮ์ คนแรกคือท่านอลี บิน อาบีฏอลิบ (อ.) และคนสุดท้ายคือท่านฮุจญะฮ์ บิน ฮาซัน อัลอัสการี (อ.)
5. นามอันทรงเกียรติของอะอิมมะฮ์(อ.)และตัวแทนของท่านศาสดา (ซ.ล.) มีดังนี้
1. อลี บินอะบีฏอลิบ
2. ฮะซัน บินอลี
3. ฮุเซน บินอลี
4. อลี บินฮุเซน
5. มุฮัมมัด บินอลี
6. ญะอ์ฟัร บินมุฮัมมัด
7. มูซา บินญะอ์ฟัร
8. อลี บินมูซา
9. มูฮัมมัด บินอลี
10. อลี บินมุฮัมมัด
11. ฮาซัน บินอลี
12. อิมาม มะฮ์ดี (อ.)[1]
สรุปคือ ชีอะฮ์มีความเชื่อเกี่ยวกับประเด็นของคิลาฟะฮ์และตัวแทนของท่านศาสดา(ซ.ล.)ว่า ท่านศาสดา (ซ.ล.) ได้แต่งตั้งท่านอิมามอลี (อ.) ไว้ในตำแหน่งนี้โดยคำสั่งจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) แต่ทว่าแม้จะมีหลายๆปัจจัยที่สกัดกั้นมิให้ท่านดำรงตำแหน่งนี้ เมื่อถึงสถานการณ์คับขันที่ต้องการความช่วยเหลือจากท่าน ท่านก็ไม่ได้นิ่งเฉยเป็นทองไม่รู้ร้อนเกี่ยวกับอนาคตของอิสลามมุสลิม โดยได้เสนอแนะทางออกเพื่อผลประโยชน์ของอิสลามและผลประโยชน์ของสังคมมนุษย์ โดยเฉพาะเหล่าผู้ถูกกดขี่และผู้ถูกอธรรมมาโดยตลอด[2]
6. เกี่ยวกับเหล่าบรรดาของศอฮาบะฮ์ของท่านนบี (ซ.ล.) ชีอะฮ์เชื่อว่าเมื่อต้องการวิเคราะห์บุคลิกภาพของแต่ละคน จะต้องพิจารณาถึงการกระทำและอุปนิสัยโดยรวมของเขา และตำแหน่งหน้าที่ของเขาจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษานี้
การเป็นศอฮาบะฮ์ของท่านศาสดา(ซ.ล.)ถึงแม้ว่าจะเป็นเกียรติอันสู่งส่ง แต่ไม่สามารถใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพวกเขาปราศจากความผิดบาป ดังที่อัลกุรอานได้ตำหนิกลุ่มมุฮาญิรีนและอันศอรเนื่องจากความผิดพลาดที่เด่นชัดบางประการไว้แล้ว เช่นกรณีบรรดามุนาฟิกีนที่แอบแฝงในหมู่ผู้ศรัทธา[3] หรือบรรดาผู้ที่มีอีหม่านที่อ่อนแอและมีราคะในหัวใจนั่นเอง[4] ฯลฯ