Please Wait
10078
اَللّهُمَّ اغْفِرْ لِىَ الذُّنُوبَ الَّتى تَهْتِکُ الْعِصَمَ؛ اَللّهُمَّ اغْفِرْ لِىَ الذُّنُوبَ الَّتى تُنْزِلُ النِّقَمَ؛ اَللّهُمَّ اغْفِرْ لِىَ الذُّنُوبَ الَّتى تُغَیِّرُ النِّعَمَ؛ اَللّهُمَّ اغْفِرْ لىَ الذُّنُوبَ الَّتى تَحْبِسُ الدُّعاَّءَ؛ اَللّهُمَّ اغْفِرْ لىَ الذُّنُوبَ الَّتى تَقطَعُ الرَّجاءَ؛ اَللّهُمَّ اغْفِرْ لِىَ الذُّنُوبَ الَّتى تُنْزِلُ الْبَلاَّءَ.
โดยปกติแล้ว บาปทุกประเภทจะเป็นเหตุให้ม่านแห่งความละอายถูกฉีกขาด บาปทุกประเภทสามารถทำให้เกิดบะลา ยับยั้งการตอบรับดุอาและริซกีของมนุษย์ได้ทั้งสิ้น เหล่านี้เป็นผลกระทบตามธรรมชาติของการทำบาป ซึ่งตำราวิชาการของเราก็เน้นย้ำไว้เช่นนี้ อย่างไรก็ดี บางฮะดีษเจาะจงถึงผลลัพท์ของบาปบางประเภทเป็นการเฉพาะ อาทิเช่น การกดขี่ข่มเหงผู้อื่น การงดทำดีกับผู้อื่น ลำเลิกบุญคุณและไม่ขอบคุณเนี้ยะมัตของพระองค์อันจะทำให้เนียะมัตถูกปรับเปลี่ยน ส่วนบาปที่จะนำพาอะซาบโดยตรงก็ได้แก่ การกดขี่ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี การเยาะเย้ยหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น ส่วนปัจจัยที่จะระงับริซกีก็ได้แก่ การเผยความยากจนให้ผู้คนทราบ การนอนช่วงนมาซอิชากระทั่งไม่ได้นมาซ ส่วนปัจจัยที่จะฉีกม่านแห่งความละอายลงก็ได้แก่ การดื่มเหล้า, การพนัน, การหยอกล้อกับผู้คนเกินงาม, คำพูดที่ไร้สาระ การจ้องจับผิดผู้อื่น การคบค้าสมาคมกับผู้ประพฤติชั่ว ส่วนปัจจัยที่จะนำพาให้บะลากระหน่ำลงได้แก่ การระงับความช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ การละเลยผู้เดือดร้อน การไม่กำชับสู่ความดี และไม่ห้ามปรามความชั่ว
สรุปคือ การอิสติฆฟ้ารของท่านอิมามอลี(อ.)ในดุอากุเมลนั้น ครอบคลุมถึงบาปทั่วไป มิได้เจาะจงประเภทใดประเภทหนึ่ง
ต้องเรียนชี้แจงว่า บาปทุกประเภทจะเป็นเหตุให้ม่านแห่งความละอายถูกฉีกขาด บาปทุกประเภทสามารถทำให้เกิดบะลา ยับยั้งการตอบรับดุอาและริซกีของมนุษย์ได้ทั้งสิ้น เหล่านี้เป็นผลกระทบตามธรรมชาติของการทำบาป ซึ่งตำราวิชาการของเราก็เน้นย้ำไว้เช่นนี้ มีฮะดีษกล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า “บางครั้งบ่าวได้ขอความช่วยเหลือจากข้า ซึ่งข้าก็ได้ประทานให้สมปรารถนา ทว่าเขากลับทำบาป ข้าจึงปรารภแก่มลาอิกะฮ์ว่า บ่าวผู้นี้ได้นำพาตนเองสู่ความกริ้วของข้าด้วยการทำบาป อันจะทำให้สูญเสียเนียะมัตที่ข้าประทานให้ จากนี้ไป เขาจะไม่ได้ดังที่ปรารถนา จนกว่าจะยอมภักดีต่อข้าเสียก่อน” [1]
ท่านอิมามอลี(อ.)ก็เคยกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ไม่มีเนียะมัตใดถูกริบไปจากผู้คน เว้นแต่เกิดจากสาเหตุที่พวกเขาทำบาป”[2]
ประหนึ่งว่าท่านอิมามอลี(อ.)ต้องการจะย้ำเตือนถึงข้อคิดดังกล่าวในช่วงแรกของดุอากุเมล โดยพร่ำวิงวอนพระองค์ว่า โอ้อัลลอฮ์ ขอทรงอภัยบาปทุกประการที่จะเป็นเหตุให้ม่านความละอายถูกฉีกขาด บะลาถาโถมมา ดุอาไม่ได้รับการตอบรับ ฯลฯ และดังที่ตอนท้ายได้กล่าวว่า ขอทรงอภัยบาปและความผิดพลาดทุกประการที่ข้าฯกระทำไป
ภัยพิบัติ (บะลา) มีความเกี่ยวโยงกับการทำบาปถึงขั้นที่กุรอานถือว่าภยันตรายทุกประเภทที่มนุษย์ประสบ ล้วนเกิดจากการทำบาป “ทุกภัยพิบัติและเคราะห์กรรมที่สูเจ้าประสบ ล้วนเกิดจากการกระทำของสูเจ้าเอง และอัลลอฮ์ทรงอภัยบาปเหล่านี้จำนวนมาก”[3]
ฉะนั้น คำสอนศาสนาไม่ว่าจะเป็นกุรอานหรือฮะดีษล้วนสอนว่า การทำบาปมีผลชักนำภัยพิบัติมาสู่มนุษย์ ดังที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลต้องอาศัยน้ำฝน และหากฝนทิ้งช่วง ทั้งแผ่นดินและท้องทะเลก็ได้รับผลเสียอย่างมหันต์ ภาวะฝนแล้งจะเกิดในช่วงที่มีการทำบาปอย่างแพร่หลาย”[4]
ที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นฮะดีษที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการทำบาปในภาพรวม แต่ยังมีฮะดีษบางบทที่ระบุถึงผลเสียของบาปบางประเภทเป็นการเฉพาะ ซึ่งในที่นี้จะขอนำเสนอฮะดีษประเภทนี้เพียงบทเดียว
อบูคอลิด กาบุลี เล่าว่า ฉันเคยได้ยินอิมามซัยนุลอาบิดีน(อ.)กล่าวว่า “บาปที่จะเปลี่ยนแปลงเนียะมัตได้แก่ การกดขี่ผู้อื่น การงดทำดีกับผู้อื่น ลำเลิกและไม่ขอบคุณเนี้ยะมัตของพระองค์ อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า
[5] إِنَّ اللَّهَ لا یغَیرُ ما بِقَوْمٍ حَتَّى یغَیرُوا ما بِأَنْفُسِهِمْ
(แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสิ่งใดในกลุ่มชนหนึ่ง เว้นแต่พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาวะต่างๆของพวกตน)
ส่วนบาปที่จะนำมาซึ่งอะซาบ ได้แก่ การกดขี่ทั้งที่รู้ว่าเป็นสิ่งไม่ดี การเยาะเย้ยหรือละเมิดสิทธิของผู้อื่น ส่วนปัจจัยที่จะระงับริซกีก็ได้แก่ การเผยความยากจนให้ผู้คนทราบ การนอนช่วงนมาซอิชากระทั่งไม่ได้นมาซ ส่วนปัจจัยที่จะฉีกม่านแห่งความละอายลงก็ได้แก่ การดื่มเหล้า, การพนัน, การหยอกล้อกับผู้คนเกินงาม, คำพูดที่ไร้สาระ การจ้องจับผิดผู้อื่น การคบค้าสมาคมกับผู้ประพฤติชั่ว ส่วนปัจจัยที่จะนำพาให้บะลากระหน่ำลงได้แก่ การระงับความช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่ การละเลยผู้เดือดร้อน การไม่กำชับสู่ความดี และไม่ห้ามปรามความชั่ว ปัจจัยที่จะทำให้ศัตรูมีชัยเหนือเรา ได้แก่ การกดขี่และการทำบาปต่อหน้าธารกำนัล การละเมิดบทบัญญัติศาสนา ไม่เชื่อฟังคำสอนของคนดีแต่กลับคล้อยตามคนชั่ว ส่วนบาปที่จะปลิดอายุขัยอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การตัดญาติขาดมิตร การสาบานเท็จ การพูดยกเมฆ การผิดประเวณี การกีดขวางการเดินทางของผู้ศรัทธา และการอ้างตำแหน่งผู้นำทั้งที่ไม่มีความเหมาะสม
ส่วนบาปที่จะทำให้ความหวังสูญสลาย ได้แก่ การสิ้นหวังในเมตตาของพระองค์ การมั่นใจในคำมั่นของผู้อื่นนอกเหนือจากพระองค์ การกล่าวหาว่าสัญญาของพระองค์เป็นเรื่องเท็จ
ส่วนปัจจัยที่จะสกัดกั้นมิให้ดุอาได้รับการตอบรับ ได้แก่ การประสงค์ร้าย การคงความต่ำทรามในหัวใจ การไม่จริงใจต่อพี่น้อง การไม่ช่วยเหลือผู้อื่น การปล่อยให้เวลานมาซผ่านไปโดยมิได้นมาซ การไม่บำเพ็ญกุศลในหนทางพระองค์ การงดบริจาคทาน การละทิ้งการทำดี การผรุสวาทด่าทอผู้อื่น ฯลฯ”[6]
อนึ่ง แต่ละหมวดดังกล่าวอาจมีข้อปลีกย่อยมากกว่าที่กล่าวมา แต่เพื่อมิให้เยิ่นเย้อ ฮะดีษจึงระบุไว้เพียงกรณีเหล่านี้ ทั้งนี้เนื่องจากมีฮะดีษบางบทระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ดุอาไม่ได้รับการตอบรับมีถึงสามสิบประการ อาทิเช่น การบริโภคอาหารต้องห้าม การนินทา การริษยา การทรนงตน การมีใจที่แข็งกระด้าง การกินดอกเบี้ย ฯลฯ
[1] ดัยละมี, ฮะซัน,อิรชาดุ้ลกุลู้บ อิลัศเศาะว้าบ,เล่ม 1,หน้า 150,สำนักพิมพ์ชะรีฟเราะฎี,กุม,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1412
[2] เพิ่งอ้าง
[3] อัชชูรอ, 30
[4] มัจลิซี,มุฮัมมัด บากิร,เล่ม 70,หน้า 349,สถาบันอัลวะฟา,เบรุต,ฮ.ศ. 1409
[5] อัรเราะอ์ด,11
[6] ดู: ฮุร อามิลี,วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 16,หน้า 282-283 ,สำนักพิมพ์อาลุลบัยต์,กุม,ฮ.ศ.1409