Please Wait
6227
มีสามประเด็นที่ควรพิจารณา
1. ตำราที่ยกมาทั้งหมด ล้วนเป็นที่ไว้วางใจของผู้ประพันธ์ทั้งสิ้น ดังจะทราบได้จากอารัมภบทของหนังสือ"มะซ้าร กะบี้ร"และ"บะละดุ้ล อะมีน"
อัลลามะฮ์มัจลิซีเองก็ให้การยอมรับตำราเหล่านี้ และกล่าวถึงผู้ประพันธ์อย่างให้เกียรติ
2. แนวปฏิบัติของบรรดาฟุก่อฮาอ์(ปราชญ์ทางนิติศาสตร์อิสลาม)คือการพิสูจน์ความถูกต้องของสายรายงานฮะดีษเสียก่อน แล้วจึงปฏิบัติตาม
3. ฟุก่อฮาอ์เหล่านี้อ้างอิงกลุ่มฮะดีษที่เรียกกันว่า "มัน บะลัฆ" ทำให้สามารถวินิจฉัยเกี่ยวกับตำราดุอาว่า สามารถปฏิบัติตามฮะดีษเหล่านี้ได้ โดยหวังจะได้รับมรรคผลตามที่ระบุไว้ ซึ่งหากมองกุศโลบายดังกล่าวด้วยมุมมองนี้ ก็ย่อมไม่ขัดต่อสติปัญญาและชะรีอัตแต่อย่างใด
เพื่อให้ได้คำตอบที่เหมาะสม ควรคำนึงสามประเด็นต่อไปนี้
1. ตำราเหล่านี้ล้วนเป็นที่ไว้วางใจของเหล่าผู้ประพันธ์และอัลลามะฮ์มัจลิซีทั้งสิ้น
ตำราที่บันทึกฮะดีษเหล่านี้ไว้ ล้วนมีคุณค่าอย่างยิ่งในมุมมองของตัวผู้ประพันธ์เองรวมถึงอัลลามะฮ์มัจลิซี ซึ่งท่านได้ยกย่องตำราเหล่านี้พร้อมกับเทิดทูนผู้ประพันธ์เป็นพิเศษ
เราขอยกตัวอย่างหนังสือ อัลมะซ้าร อัลกะบี้ร ประพันธ์โดยเชค อับดุลลอฮ์ มุฮัมมัด บิน ญะฟัร อัลมัชฮะดี หรือที่รู้จักในนาม"อิบนุ้ลมัชฮะดี"มาเป็นกรณีศึกษา
ก. ผู้ประพันธ์กล่าวไว้ในอารัมภบทว่า "ฉันได้รวบรวมบทดุอา บทมุนาญ้าต บทซิยาเราะฮ์สำหรับสถานที่ศักดิ์สิทธิต่างๆ รวมทั้งข้อคิดรณรงค์ให้เห็นคุณค่ามัสญิดสำคัญต่างๆไว้เคียงคู่กับสายรายงานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งนักรายงานฮะดีษเหล่านี้ถ่ายทอดมาจากลูกหลานนบีและปราชญ์ศาสนาทั้งสิ้น
ข. ผู้ประพันธ์คือหนึ่งในครูบาด้านฮะดีษในฝ่ายอิมามียะฮ์ ซึ่งปรากฏนามในใบรับรองการรายงานฮะดีษ และได้รับการยอมรับโดยผู้รู้ที่มีชื่อเสียงหลายท่าน
เชคฮุร อามิลีถือว่า "อิบนุลมัชฮะดี" คือผู้รู้ที่มีเกียรติยิ่ง และยังได้กล่าวถึงตำราบางเล่มของเขาอีกด้วย[1]
อัลลามะฮ์ มัจลิซี กล่าวว่า มีตำราที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับบทซิยารัต ประพันธ์โดยมุฮัมมัด บิน มัชฮะดี ซึ่งซัยยิด อิบนิฏอวู้สก็ให้การยอมรับและยกย่องตำราดังกล่าว เราขอตั้งชื่อตำราเล่มนี้ว่า "มะซ้าร กะบี้ร"[2]
ท่านได้กล่าวอีกว่า "เมื่อพิจารณาหนังสือมะซ้าร กะบีรแล้ว ก็จะทราบว่าเป็นหนังสือที่น่าเชื่อถือ เพราะซัยยิดอิบนิฏอวู้สเองก็รายงานฮะดีษและบทซิยารัตจากหนังสือเล่มนี้[3]
ท่านกัฟอะมีกล่าวไว้ในอารัมภบทของหนังสือของตนที่ชื่อ"อัลบะละดุ้ลอะมีน"ว่า "หนังสือเล่มนี้(อัลมะซ้าร อัลกะบี้ร) ได้รวบรวมบทดุอา บทป้องภัย และตัสบี้ห์ที่มีสายรายงานเชื่อมถึงบรรดาอิมาม(อ.) โดยคัดจากหนังสือที่ไว้วางใจได้ ส่วนเรามีหน้าที่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ในกรณีของหนังสือมิศบาฮุซซาอิร ซึ่งประพันธ์โดยซัยยิด อลี บิน มูซา บินฏอวู้สนั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับตำราของอุละมาอ์ยุคก่อนท่าน จะทราบว่าฮะดีษของมิศบาฮุซซาอิรมีปรากฏในตำราของผู้รู้ระดับสูงอย่างเช่น เชคศ่อดู้ก, เชคมุฟีด, เชคฏูซี, อิบนิ กูละวัยฮ์ ฯลฯ เช่นกัน
เราขอสรุปด้วยคำพูดของท่านมัจลิซีเกี่ยวกับตำราและผู้ประพันธ์ที่ท่านใช้อ้างอิงดังนี้
ท่านกล่าวไว้ในบทที่สองของอารัมภบทหนังสือบิฮ้ารว่า "พึงทราบว่าตำรับตำราที่เราวางใจใช้อ้างอิงในที่นี้นั้น ล้วนได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นตำราของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น ตำรับตำราของเชคศ่อดู้ก และ... ตลอดจนตำราของครอบครัวบินฏอวู้สซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วกัน
ส่วนหนังสือของกัฟอะมีก็เป็นที่เลื่องลือทั้งตัวตำราและผู้ประพันธ์เสียจนไม่จำเป็นต้องชี้แจงแถลงไขใดๆอีก[4]
2. หนึ่งในแขนงวิชาที่บรรดาฟุก่อฮาอ์จำเป็นต้องใช้ในการวินิจฉัยปัญหาศาสนาก็คือ วิชาริญ้าลและดิรอยะตุ้ลฮะดีษ แนววิธีที่ถือปฏิบัติกันก็คือ ทุกฮะดีษที่กล่าวถึงประเด็นชะรีอัต หรือสารธรรมคำสอน หรือหลักความเชื่อนั้น จะต้องนำมาพิจารณาในแง่สายรายงานเสียก่อนว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด เมื่อผ่านการพิสูจน์และไม่พบข้อกังขาใดๆ จึงจะนำมาพิจารณาในแง่เนื้อหา ซึ่งฟะกี้ฮ์แต่ละท่านจะใช้ประโยชน์ตามกรอบแนวคิดที่ตนมี
กระบวนการดังกล่าวถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่หลังยุคอิมามไม่นาน โดยประยุกต์ตามคำสอนของบรรดาอิมาม(อ.) จะเห็นได้ว่าเชคศ่อดู้ก เชคมุฟี้ด และเชคฏูซีก็ล้วนคัดเลือกฮะดีษตามบรรทัดฐานของวิชาริญ้าลเพื่อนำมาใช้วินิจฉัยปัญหา วิธีเช่นนี้ได้รับความนิยมจากบรรดาฟุก่อฮาอ์ที่มีชื่อเสียงมาจนบัดนี้
ฉะนั้น ฮะดีษในตำราต่างๆ แม้จะเป็นตำราที่มีชื่อเสียงหรือประพันธ์โดยผู้รู้ระดับสูง จะต้องได้รับการพิสูจน์ทางวิชาริญ้าลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน แล้วจึงนำมาใช้ประโยชน์ต่อไป
3. ข้อคิดหนึ่งที่อาจเป็นทางออกสำหรับปัญหาทำนองนี้ได้ก็คือ หลักการ "มัน บะลัฆ"ที่บรรดาฟุก่อฮาอ์ถือปฏิบัติในกรณีที่พบฮะดีษในตำราต่างๆที่รณรงค์ส่งเสริมให้อ่านดุอาและบทซิยารัต ในลักษณะที่หากปฏิบัติตามคำแนะนำจะทำให้ได้รับผลบุญเท่านั้นเท่านี้ กรณีเช่นนี้บรรดาฟุก่อฮาอ์ให้ความเห็นว่าสามารถปฏิบัติตามได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบสายรายงาน แต่ทั้งนี้จะต้องมีเงื่อนไขต่อไปนี้
ก. จะต้องไม่มีหลักฐานที่ระบุว่ากิจกรรมนั้นเป็นฮะรอม ข. กระทำโดยตั้งเจตนาเพื่อหวังจะได้รับมรรคผลจากอัลลอฮ์
หลักฐานที่ยืนยันประเด็นนี้ได้แก่ฮะดีษต่างๆที่มีเนื้อหาอนุโลมดังที่กล่าวมา อาทิเช่นฮะดีษนี้:
عَنْ مُحَمَّدِ بْنِ مَرْوَانَ قَالَ سَمِعْتُ أَبَا جَعْفَرٍ علیه السلام یَقُولُ مَنْ بَلَغَهُ ثَوَابٌ مِنَ اللَّهِ عَلَى عَمَلٍ فَعَمِلَ ذَلِکَ الْعَمَلَ الْتِمَاسَ ذَلِکَ الثَّوَابِ أُوتِیَهُ وَ إِنْ لَمْ یَکُنِ الْحَدِیثُ کَمَا بَلَغَه[5]
ท่านอิมามบากิร(อ.)กล่าวว่า "ผู้ใดที่ได้ยินเกี่ยวกับจำนวนมรรคผลที่อัลลอฮ์จะตอบแทนกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง และได้ปฏิบัติตามโดยหวังจะได้รับมรรคผลดังกล่าว เขาจะได้รับตามนั้น แม้ในความเป็นจริง ฮะดีษดังกล่าวจะมิได้ระบุเช่นนั้นก็ตาม"
บรรดาฟุก่อฮาอ์ได้พิสูจน์ความถูกต้องของฮะดีษกลุ่มนี้ และได้ยอมรับกุศโลบายดังกล่าวในตำราของตน[6]
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มฮะดีษที่สอนว่าควรอ่านเช่นนั้นเช่นนี้ระหว่างทำน้ำนมาซ หรือกล่าวซิเกรบางบทก่อนเข้านอน หรืออ่านดุอาบางบทในคืนลัยละตุ้ลก็อดร์ หรือถ้าหากอ่านบทซิยารัตอิมามบางบทจะได้รับผลบุญเท่านั้นเท่านี้ ในกรณีเช่นนี้ไม่เพียงแต่เราจะสามารถปฏิบัติตามได้ แต่ปัญญาและฮะดีษเศาะฮี้ห์(ดังที่กล่าวไปแล้ว) ยังพิสูจน์แล้วว่าเราจะได้รับความเมตตาจากอัลลอฮ์อีกด้วย
จึงสามารถกล่าวได้ว่า แหล่งอ้างอิงของหนังสือมะซ้ารของอัลลามะฮ์มัจลิซีอย่างเช่น มิศบาฮุซซาอิร, มิศบาฮ์ กัฟอะมี, อัลมะซ้าร อัลกะบี้ร...ฯลฯ นอกจากจะได้รับการยอมรับจากเจ้าของตำรา รวมทั้งอัลลามะฮ์มัจลิซีแล้ว ตามบรรทัดฐานของกลุ่มฮะดีษ "มัน บะลัฆ" เรายังสามารถปฏิบัติตามตำราเหล่านี้เพื่อหวังจะได้รับมรรคผลจากอัลลอฮ์ได้อีกด้วย