Please Wait
6622
ตำแหน่งอิมามเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า การกำหนดตัวบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นอิมามและจำนวนของอิมามนั้นขึ้นกับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และทางเดียวที่เราจะสามารถรับรู้ถึงเจตนาดังกล่าวได้ก็คือฮะดีษของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ศ็อลฯ) นั่นเอง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวถึงบุคคลและจำนวนของอิมาม(อ.)หลายต่อหลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือริวายะฮ์ต่าง ๆที่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายซุนนีได้กล่าวไว้ ซึ่งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “การงานของอิสลามจะไม่สิ้นสุดจนกว่าตัวแทนสิบสองท่านจะมาปรากฏ
[1] ชีอะฮ์และซุนนีได้บันทึกไว้ว่า เมื่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้แต่งตั้งท่านอิมามอาลี (อ.) เพื่อเป็นอิมามต่อจากท่านในเหตุการณ์ฆอดีรคุม และหลังจากที่อายะฮ์อิกมากได้ประทานลงมา[2] คอลีฟะฮ์ที่หนึ่งและสองได้ลุกขึ้น และถามจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า “วิลายะฮ์และการเป็นตัวแทนหลังจากท่านในครั้งนี้เป็นของอาลี (อ.) เพียงผู้เดียวใช่ไหม?” ท่านได้กล่าวว่า “จำเพาะสำหรับอาลี (อ.) และบรรดาตัวแทนของฉัน จนถึงวันกิยามัต” พวกเขาได้ถามว่า “บรรดาตัวแทนของท่านมีใครบ้าง?” ท่านได้กล่าวว่า “อาลี (อ.) ผู้เป็นน้องชาย, ตัวแทน, ผู้สืบทอด และคอลีฟะฮ์หลังจากฉันสำหรับประชาชาติของฉัน และเขาจะเป็นผู้มีสิทธิเหนือมุอ์มินทุกคนหลังจากฉัน, หลังจากนั้นฮาซัน (อ.)และฮุเซน(อ.)ผู้เปรียบเสมือนบุตรของฉันเป็นอันดับถัดมา และลูกหลานจากฮุเซน (อ.) อีกจำนวน 9 คน ซึ่งพวกเขาจะสืบทอดอำนาจหน้าที่ทีละคน[3]
สรุปคือ เหตุผลหลักของการมีอิมามจำนวนสิบสองท่านคือ ริวายะฮ์ต่าง ๆ ซึ่งทั้งชีอะฮ์และทั้งซุนนีได้รายงานจากท่านนบี (ศ็อลฯ) แต่หากถามว่าปรัชญาของจำนวนสิบสองคืออะไร ต้องเรียนว่าในอิสลามมีหลายประเด็นที่สาเหตุและเหตุผลของมันไม่เป็นที่กระจ่างชัดสำหรับเรา ทว่าเราจะต้องทำตามกฎเหล่านั้น เช่นกรณีจำนวนเราะกะอัตในนมาซ หรือการอ่านเสียงดังหรือเสียงค่อยระหว่างนมาซ ซึ่งจะแตกต่างในหญิงและชาย คำถามดังกล่าวก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย ซึ่งเราจะต้องทำตามพระบัญชาของพระองค์ และอัลลอฮ์เป็นผู้กำหนดกฎกติกาดังกล่าว พระองค์ได้ลงวิวรณ์แก่ท่านนบี(ซ.ล.)เกี่ยวกับประเด็นนี้ก่อนที่บรรดาอิมามเหล่านี้จะถือกำเนิดเสียอีก และท่านก็ได้ประกาศเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวในหลายๆโอกาส อย่างไรก็ดี บทบัญญัติอิสลามไม่ว่าจะมีสาเหตุที่กระจ่างชัดหรือไม่นั้น เราจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามโดยดุษณี เนื่องจากผู้สั่งคือผู้เปี่ยมด้วยวิทยปัญญา ซึ่งไม่มีทางออกคำสั่งที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นคำสั่งทั้งหมดที่ทรงประกาศใช้ ก็เพื่อการพัฒนาและการก้าวไปสู่ความสูงส่งของมนุษยชาตินั่นเอง ดังนั้นจะต้องนำสู่การปฏิบัติ
เกี่ยวกับคำถามส่วนที่สอง ที่ได้ถามว่าทำไมเราจะต้องอยู่อย่างเดียวดายเป็นเวลายาวนาน? และอิมามที่ไม่ได้อยู่กับเราจะช่วยให้เราปลอดภัยได้อย่างไร?
ต้องเรียนว่า อัลลอฮ์จะไม่ปล่อยให้พื้นแผ่นดินและบ่าวของพระองค์ปราศจากฮุจญะฮ์(ข้อพิสูจน์)ของพระองค์อย่างเด็ดขาด เราสามารถรับรู้ประเด็นนี้ได้จากริวายะฮ์ต่าง ๆ ที่กล่าวถึงเรื่องนี้[4] นั่นหมายความว่า เรามิได้อยู่โดยปราศจากอิมาม
หนึ่งในคุณลักษณะของตัวแทนของอัลลอฮ์ในทุกยุคทุกสมัยคือ การที่พวกเขาเป็นสื่อในการประทานความเมตตาต่างๆจากพระผู้เป็นเจ้า เราสามารถรับรู้ถึงประเด็นดังกล่าวได้จากริวายะฮ์จากท่านนบี (ศ็อลฯ) ซึ่งท่านได้ตอบคำถามที่มีเนื้อหาคล้ายกับคำถามข้างต้นว่า คุณูปการของเขา (ท่านอิมามซะมาน (อ.) ที่มีต่อบ่าวของพระองค์ในยุคสมัยของการเร้นกาย เปรียบเสมือนกับความสว่างและไออุ่นที่ได้มาจากดวงอาทิตย์ที่อยู่หลังเมฆหมอก จากการเปรียบเปรยที่งดงามนี้ ทำให้สามารถแปรออกเป็นเนื้อหาได้ต่อไปนี้:
ดังที่การที่ดวงอาทิตย์ที่อยู่หลังเมฆหมอกมิได้สูญเสียความสว่างและความอบอุ่นแก่ชาวโลก การที่อิมามเร้นกายจากสายตาคนทั่วไปก็ไม่ทำให้มนุษย์ถูกตัดขาดจากความเมตตาและการชี้นำจากท่านโดยสิ้นเชิง จึงมีผู้คนมากมายที่ได้รับความเมตตาจากท่าน เราจะเห็นประเด็นดังกล่าวได้จากจดหมายของท่านที่เขียนให้กับเชคมูฟีด ท่านได้กล่าวว่า “เราไม่ได้ละเลยที่จะดูแลพวกท่าน และเราจะไม่ลืมท่าน และหากไม่เป็นเช่นนี้ พวกท่านจะมลายไปด้วยแรงพายุของภัยบะลาอ์ต่างๆอย่างแน่นอน”[5] การมีชีวิตอยู่ของท่านเป็นสาเหตุสำคัญที่ประชาชนจะได้อุ่นใจและมีความหวังที่จะปรับปรุงตัวเองเพื่อการมาของท่าน
ประเด็นสำคัญคือ เราจะสามารถใช้ประโยชน์จากแสงสว่างของดวงอาทิตย์ได้อย่างเต็มที่ เมื่อเราขจัดสิ่งกีดขวางต่างๆที่บดบังแสงสว่างเอาไว้ ดังนั้น เมื่อเรามีดวงอาทิตย์ที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้แล้ว (ถึงแม้จะอยู่หลังเมฆแห่งการเร้นกายก็ตาม) ก็ไม่มีความหมายที่จะคิดว่าเรามีชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นคุณูปการของการมีอิมามซะมาน (อ.) คำถามที่ 168 (เว็บ, 1375), 654 (เว็บ, 705) และ 534 (เว็บ, 582)
[1] حَدَّثَنَا قُتَیْبَةُ بْنُ سَعِیدٍ حَدَّثَنَا جَرِیرٌ عَنْ حُصَیْنٍ عَنْ جَابِرِ بْنِ سَمُرَةَ قَالَ سَمِعْتُ النَّبِیَّ صَلَّى اللَّهُ عَلَیْهِ وَسَلَّمَ یَقُولُ ح و حَدَّثَنَا رِفَاعَةُ بْنُ الْهَیْثَمِ الْوَاسِطِیُّ وَاللَّفْظُ لَهُ حَدَّثَنَا خَالِدٌ یَعْنِی ابْنَ عَبْدِ اللَّهِ الطَّحَّانَ عَنْ حُصَیْنٍ عَنْ جَابِرِ بْنِ سَمُرَةَ قَالَ دَخَلْتُ مَعَ أَبِی عَلَى النَّبِیِّ صَلَّى اللَّهُ عَلَیْهِ وَسَلَّمَ فَسَمِعْتُهُ یَقُولُ إِنَّ هَذَا الْأَمْرَ لَا یَنْقَضِی حَتَّى یَمْضِیَ فِیهِمْ اثْنَا عَشَرَ خَلِیفَةً قَالَ ثُمَّ تَکَلَّمَ بِکَلَامٍ خَفِیَ عَلَیَّ قَالَ فَقُلْتُ لِأَبِی مَا قَالَ قَالَ کُلُّهُمْ مِنْ قُرَیْشٍ.
ริวายะฮ์นี้บันทึกในหนังสือหลายเล่ม เช่น เศาะฮี้ห์มุสลิม, เล่มที่ 9, หน้าที่ 335,333, 337, ซุนันอาบีดาวูด, เล่มที่ 11, หน้าที่ 351,352, มุสนัดอะฮ์หมัด, เล่มที่ 42, หน้าที่ 309, มุศนัฟอิบนิ อาบีชัยบะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 492
[2] ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์, 3
[3] ฆอยะตุลมะรอม, บาบที่ 58, ฮาดีษที่ 4,ในอีกฮาดีษหลังจากที่ได้กล่าวถึงอายะฮ์ที่ 1 ซูเราะฮ์นิซาอ์ ท่านได้กล่าวถึงตัวแทนหลังจากท่านทีละคน, ฆอยะตุลมะรอม, เล่มที่ 10, หน้าที่267, อิษบาตุลฮุดา, เล่มที่ 8, หน้าที่ 133, บิฮาร, เล่มที่36, หน้าที่ 260, 298
[4] الْحُسَیْنُ بْنُ مُحَمَّدٍ عَنْ مُعَلَّى بْنِ مُحَمَّدٍ عَنْ بَعْضِ أَصْحَابِنَا عَنْ أَبِی عَلِیِّ بْنِ ذَلِکَ الْحُجَّةُ
อัลกาฟี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 178
[5] บิฮารุลอันว้าร, เล่มที่ 53, หน้าที่ 774