Please Wait
8267
1. อะบาน บิน ตัฆลิบ ถามอิมามศอดิก(อ.)ว่า หากพบสตรีโฉมงามที่พร้อมจะสมรสชั่วคราว แต่ไม่มั่นใจว่าเธอมีสามีหรือไม่ จะต้องทำอย่างไรขอรับ? ท่านตอบว่า “ไม่จำเป็นต้องสืบประวัติเธอ คำพูดที่ว่าเธอไม่มีสามีถือว่าเพียงพอแล้ว” (หมวดมุตอะฮ์ เชคมุฟี้ด,ฮะดีษที่ 37)
2. ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “ผู้ที่กระทำมุตอะฮ์หนึ่งครั้ง เท่ากับว่าเศษหนึ่งส่วนสามของเขาเป็นอิสระแล้วจากไฟนรก ผู้ที่กระทำสองครั้ง สองในสามของเขาปลอดภัย ผู้ที่กระทำสามครั้ง เขาจะปลอดภัยจากไฟนรกทั้งเรือนร่าง
3. ซุรอเราะฮ์ บิน อะอ์ยัน รายงานจากอิมามบากิร(อ.)ว่า ความสุขของผู้ศรัทธามีสามประการ หนึ่ง มุตอะฮ์กับอิสตรี สอง หยอกล้อกับมิตรสหาย สาม นมาซตะฮัจญุด (หนังสือ สมรสชั่วคราว: ความจำเป็นแห่งยุคสมัย,อับบาสซอเดะฮ์)
4. ฮิมยะรีส่งสาส์นถามท่านอิมามมะฮ์ดีว่า มีชายชีอะฮ์คนหนึ่งที่ยอมรับว่ามุตอะฮ์เป็นที่อนุมัติ และมีภรรยาที่ดีและปรนนิบัติอย่างเต็มที่ เขาจึงสัญญากับนางว่าจะไม่สมรสอีก ไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว เขารักษาสัญญาไว้ถึงสิบเก้าปี แม้บางครั้งต้องเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองแต่เขาก็อดทน เขายอมรับว่ามุตอะฮ์เป็นสิ่งอนุมัติก็จริง แต่เนื่องจากรักภรรยาเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่ยอมมุตอะฮ์กับสตรีคนใดเลย ถามว่าการที่เขางดกระทำมุตอะฮ์ ถือเป็นบาปหรือไม่ขอรับ? คำตอบจากท่านอิมามส่งถึงเขาดังนี้ “เนื่องจากเขาสัญญาในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮ์ จึงจำเป็นต้องเชื่อฟังพระองค์ และกระทำมุตอะฮ์หนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย” (บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 100,หน้า 298 และ หมวดมุตอะฮ์,เชคมุฟี้ด,หน้า 48)
5. ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวว่า “ผู้ใดที่ตายไปโดยที่ยังไม่เคยมุตอะฮ์ จะมีหน้าตาอัปลักษณ์เสมือนคนที่จมูกแหว่ง”
การสมรสชั่วคราวถือเป็นหนึ่งในขนบธรรมเนียมแห่งอิสลามที่กุรอานได้อนุญาตไว้
ขนบธรรมเนียมอันดีงามนี้มีการถือปฏิบัติกันในสังคมมุสลิมยุคท่านนบี(ซ.ล.)และเคาะลีฟะฮ์คนแรก ตลอดจนระยะแรกของยุคเคาะลีฟะฮ์คนที่สอง กระทั่งเขาได้สั่งห้ามในที่สุด
แต่บรรดาอิมามมะอ์ศูมีนมักจะรณรงค์ให้มีการสมรสประเภทนี้ต่อไป เนื่องจากขนบธรรมเนียมทางศาสนาดังกล่าวถูกสั่งห้ามอย่างไม่ชอบธรรม อย่างไรก็ดี ฮะดีษที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ควรได้รับการกลั่นกรองสายรายงานและเนื้อหาเสมือนฮะดีษอื่นๆทั่วไป ซึ่งจะแจกแจงในคำตอบแบบสมบูรณ์ต่อไป นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาสภาพสังคมในยุคของอิมามด้วย
การสมรสชั่วคราวถือเป็นหนึ่งในขนบแห่งอิสลามที่กุรอานได้อนุญาตไว้
ขนบธรรมเนียมอันดีงามนี้มีการถือปฏิบัติกันในสังคมมุสลิมยุคท่านนบี(ซ.ล.)และเคาะลีฟะฮ์คนแรก ตลอดจนระยะแรกของยุคเคาะลีฟะฮ์คนที่สอง กระทั่งเขาได้สั่งห้ามในที่สุด
แต่บรรดาอิมามมะอ์ศูมีนมักจะรณรงค์ให้มีการสมรสประเภทนี้ต่อไป เนื่องจากขนบธรรมเนียมทางศาสนานี้ถูกสั่งห้ามอย่างไม่ชอบธรรม การกระทำดังกล่าวจึงนับว่าเป็นการดื้อแพ่งต่อคำสั่งห้ามอันเป็นบิดอะฮ์ และนี่คือเหตุผลที่การสมรสประเภทนี้ถือเป็นมุสตะฮับในทัศนะของชีอะฮ์ ซึ่งมีการอธิบายไว้ในสำนวนฮะดีษหลายบท
ส่วนการวิจารณ์ฮะดีษนั้น ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะการวิจารณ์ฮะดีษต้องอาศัยความชำนาญอย่างสูง ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์สายรายงานว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์เนื้อหาฮะดีษว่า แม้ฮะดีษน่าเชื่อถือจริง แต่จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ตัวอย่างเช่น ข้อพึงสังเกตุที่ว่าฮะดีษกล่าวขึ้นในบริบทใด เรื่องใด และตอบคำถามใดหรือไม่?
เราเห็นพ้องกับคุณในประเด็นที่ว่า ผู้ที่ไม่มีความชำนาญไม่ควรนำเสนอฮะดีษตามใจชอบ ด้วยเหตุนี้เองที่แม้ในยุคของบรรดาอิมามเองก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้รายงานฮะดีษ
ก่อนจะวิเคราะห์ฮะดีษที่คุณอ้างอิงไว้ จำเป็นต้องวิจารณ์สายรายงานและเนื้อหาโดยละเอียดดังต่อไปนี้:
ฮะดีษแรก
ฮะดีษนี้ปรากฏในหนังสืออัลกาฟีด้วยสายรายงานต่อไปนี้:
عدة من أصحابنا ، عن أحمد بن محمد بن خالد ، عن محمد بن علی ، عن محمد بن أسلم ، عن إبراهیم بن الفضل ، عن أبان بن تغلب قال : قلت لأبی عبد الله ( علیه السلام ) : إنی أکون فی بعض الطرقات أرى المرأة الحسناء و لا آمن أن تکون ذات بعل أو من العواهر؟ قال: لیس هذا علیک إنما علیک أن تصدقها فی نفسها[1]
ในสายรายงานนี้มีมุฮัมมัด บิน อลี และ มุฮัมมัด บิน อัสลัม ซึ่งเป็นพวกสุดโต่งและไม่น่าเชื่อถือ ส่วน อิบรอฮีม บิน ฟัฎล์ อัลฮาชิมีก็เป็นบุคคลที่ไม่มีใครรู้จัก
อย่างไรก็ดี ในหมวดดังกล่าว(หมวดเชื่อสตรีได้ในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวนางเอง) มีฮะดีษถัดไปที่มีสายรายงานที่เศาะฮี้ห์ อันหมายถึงผู้รายงานทุกคนเชื่อถือได้ เป็นอิมามียะฮ์ และเชื่อมถึงอิมาม โดยมีเนื้อหาตรงตามนั้น
แต่เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ฮะดีษมีทั้งประเภทที่มีเนื้อหากว้างและเนื้อหาเจาะจง หรือประเภทมีเงื่อนไขและปราศจากเงื่อนไข บางกรณีมีเนื้อหาหักล้างกันเอง ซึ่งทำให้เข้าใจลำบากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องสอบถามผู้รู้เฉพาะทางในสายฮะดีษ (บรรดามุจตะฮิด) เพื่อมิให้เข้าใจผิดเพี้ยนหรือตีความตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่า หากหญิงคนใดกล่าวว่าตนไม่มีสามีก็สามารถเชื่อตามนั้นได้ (หากไม่เป็นที่รู้กันว่านางชอบโกหกพกลม)[2]
ส่วนฮะดีษบทที่สองที่คุณอ้างไว้ เราไม่พบในตำราเล่มใด จึงไม่อาจจะแสดงทัศนะได้
ส่วนฮะดีษบทที่สาม ตัวบทฮะดีษมีอยู่ว่า
أبی عن سعد ، عن حماد بن یعلی ، عن أبیه، عن حماد بن عیسى عن زرارة ، عن أبی جعفر (ع) قال : لهو المؤمن فی ثلاثة أشیاء: التمتع بالنساء و مفاکهة الاخوان و الصلاة باللیل[3]
ในสายรายงานนี้มี ฮัมม้าด บิน ยะอ์ลา และพ่อของเขา ยะอ์ลา บิน ฮัมม้าด ซึ่งทั้งสองคนไม่เป็นที่รู้จัก จึงทำให้กลายเป็นฮะดีษเฎาะอี้ฟ ทว่าไม่มีข้อด้อยในแง่เนื้อหา เนื่องจากการสมรสชั่วคราวนั้น แม้ว่าจะกระทำเพียงเพื่อให้มีความสุขก็ถือว่าถูกต้อง อย่างไรก็ดี การแสวงหาความสุข (ตะมัตตุอ์)ในที่นี้อาจหมายถึงการสมรสถาวรก็ได้ ซึ่งในกรณีดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือประเด็นของเรา
ส่วนฮะดีษบทที่สี่
อันดับแรก: ฮะดีษนี้มีสองสายรายงานซึ่งอ่อนทั้งคู่ ทว่ามีฮะดีษอีกบทหนึ่งซึ่งเป็นเศาะฮี้ห์ อันหมายถึงผู้รายงานทุกคนเชื่อถือได้ เป็นอิมามียะฮ์ และเชื่อมถึงอิมาม จึงสามารถอ้างอิงและใช้ประโยชน์ในแง่เนื้อหาได้
สอง: ความหมายที่ถูกต้องของฮะดีษดังกล่าวคือ เป็นสิ่งบังควร (มิไช่บังคับ) ที่เขาจะเชื่อฟังอัลลอฮ์ด้วยการกระทำมุตอะฮ์ และควรกระทำแม้สักครั้งเพื่อเป็นการเพิกถอนสัญญาอันเป็นมะอ์ศิยัตดังกล่าว[4]
ส่วนฮะดีษที่ห้านั้น เราไม่พบในตำราเล่มใด
สรุปคือ อุละมาชีอะฮ์มีทัศนะเป็นเอกฉันท์ในเรื่องการอนุมัติให้มุตอะฮ์ได้ แม้จะกระทำเพื่อความสุขทางเพศเพียงอย่างเดียวก็ตาม ซึ่งข้อสรุปข้างต้นสังเคราะห์มาจากเนื้อหาของฮะดีษอื่นๆจำนวนไม่น้อยที่นอกเหนือจากฮะดีษที่กล่าวมาทั้งหมด ซึ่งล้วนมีความน่าเชื่อถือเพียงพอ
หากต้องการศึกษาเพิ่มเติม กรุณาอ่าน:
ระเบียน การสมรสชั่วคราวและความสงบทางจิตใจ เลขที่ 2925 (เว็บไซต์ 3130)
ระเบียน การสมรสชั่วคราวในกุรอานและจารีตของมะอ์ศูมีน เลขที่ 2965 (เว็บไซต์ 3467)
ระเบียน การอนุมัติให้สมรสชั่วคราวได้ เลขที่ 844 (เว็บไซต์ 915)
ระเบียน ผลเสียที่จะเกิดจากการปล่อยให้มีการสมรสชั่วคราวในสังคม เลขที่ 347 (เว็บไซต์ 353)
[1] ษิเกาะตุลอิสลาม กุลัยนี, อัลกาฟี,เล่ม 5,หน้า 462, ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ฮ.ศ.1365
[2] ประมวลปัญหาศาสนาของอิมามโคมัยนี(พร้อมภาคผนวก),เล่ม 2,หน้า 499, ปัญหาที่ 2456 และเชิงอรรถของอายะตุลลอฮ์ ฟาฎิลลังกะรอนี, ซีซตานี, และมะการิม ชีรอซี
[3] เชคเศาะดู้ก,อัลคิศ้อล,เล่ม 1,หน้า 161,สำนักพิมพ์ญามิอะฮ์มุดัรริซีน,กุม,ฮ.ศ. 1403
[4] อามิลี, เชคฮุร,วะซาอิลุชชีอะฮ์,เล่ม 21,หน้า 17 (หมวดมุสตะฮับให้มุตอะฮ์แม้จะสัญญาหรือบนบานว่าจะไม่กระทำ),สถาบันอาลุลบัยต์,กุม,ฮ.ศ.1409 .".... یستحب له أن یطیع الله تعالى بالمتعة لیزول عنه الحلف فی المعصیة و لو مرة واحدة