Please Wait
15027
สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการที่มีต้นกำเนิดเดียวกัน และการที่ควรได้รับความเสมอภาคทางสังคม อาทิเช่น การศึกษา, การแสดงความเห็น...ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ในแง่สรีระและอารมณ์กลับมีข้อแตกต่างหลายประการ ข้อแตกต่างเหล่านี้เองที่ส่งผลให้เกิดบทบัญญัติพิเศษอย่างเช่นการสวมฮิญาบในสังคม ทั้งนี้ก็เนื่องจากสุภาพสตรีมีความโดดเด่นในแง่ความวิจิตรสวยงาม แต่สุภาพบุรุษมีความโดดเด่นในแง่ผู้แสวงหา ด้วยเหตุนี้จึงมีการเน้นย้ำให้สุภาพสตรีสงวนตนในที่สาธารณะมากกว่าสุภาพบุรุษ ทั้งนี้และทั้งนั้น หาได้หมายความว่าจะมีข้อจำกัดด้านการแต่งกายเพียงสุภาพสตรี โดยที่สุภาพบุรุษไม่ต้องระมัดระวังใดๆไม่.
เพื่อจะได้คำตอบที่ชัดเจน จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงต่างๆดังต่อไปนี้
1. หญิงและชายมีความเสมอภาคกันในแง่ของการที่มีต้นกำเนิดเดียวกัน[1] และการที่ควรได้รับสิทธิทางสังคมอย่างเสมอภาค เช่นการสมรส, การศึกษาเล่าเรียน, การเรียกร้องสิทธิตามกฏหมาย, อิสรภาพทางความคิด...ฯลฯ
2. แม้ทั้งสองเพศจะมีความคล้ายคลึงบางประการ แต่ก็มีข้อแตกต่างหลายประการเช่นกัน
อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า“แม้สุภาพสตรีจะมีส่วนคล้ายคลึงกับสุภาพบุรุษ แต่ก็ยังมีข้อแตกต่างมากมายอันเกิดจากคุณลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันระหว่างสองเพศโดยเฉลี่ย ไม่ว่าจะเป็นสมอง, หัวใจ, ระบบใหลเวียนของเลือด, ระบบประสาท น้ำหนักและส่วนสูง ซึ่งนักกายวิพากษ์ได้ให้ทัศนะไว้ว่า มีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันระหว่างสองเพศ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้ผิวพรรณของสุภาพสตรีทั่วไปมีลักษณะละเอียดและอ่อนนุ่มกว่า ในทางตรงกันข้าม ผิวพรรณของสุภาพบุรุษหยาบกร้านและมีสรีระที่บึกบึนกว่า สุภาพสตรีมีสภาวะทางจิตใจที่ละเอียดอ่อนกว่า ไม่ว่าจะในแง่ความรัก, ความสงสาร, ความรักสวยรักงาม, การแต่งกาย ส่วนสุภาพบุรุษจะโดดเด่นกว่าในด้านความรอบคอบเชิงเหตุและผล สรุปคือ วิถีชีวิตของสุภาพสตรีทั่วไปเน้นด้านอารมณ์ความรู้สึก ส่วนสุภาพบุรุษเน้นด้านตรรกะเป็นหลัก [2]
3. มิไช่สุภาพสตรีเท่านั้นที่ต้องระมัดระวังการแต่งกาย แต่สุภาพบุรุษก็ต้องระมัดระวังด้วยในระดับหนึ่ง[3]
4. เราเชื่อว่าปรัชญาหรือเหตุผลของการสวมฮิญาบสำหรับสุภาพสตรีขึ้นอยู่กับปัจจัยบางประการ ไม่ว่าจะปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยทางสถาบันครอบครัว และปัจจัยทางสังคม.
ในแง่จิตวิทยา ฮิญาบช่วยส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจแก่สังคม
ในแง่สถาบันครอบครัว ฮิญาบจะช่วยกระชับสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะระหว่างสามีภรรยา.
ในแง่สังคม ฮิญาบจะช่วยปกป้องและส่งเสริมให้ทรัพยากรบุคคลสามารถทุ่มเทกับการทำงานมากขึ้น
กล่าวได้ว่า อิสลามต้องการจะจำกัดความสุขทางกามารมณ์ไว้ในบรรยากาศครอบครัวที่เกิดจากการสมรสอันถูกทำนองคลองธรรม โดยส่งเสริมให้พื้นที่ทางสังคมเป็นพื้นที่สำหรับประกอบอาชีพอย่างเต็มประสิทธิภาพ แนวคิดดังกล่าวสวนทางกับสังคมตะวันตกในปัจจุบันที่ผูกโยงอาชีพการงานไว้กับการปลุกเร้ากามารมณ์ อิสลามเพียงต้องการจะแยกพื้นที่ของสองปัจจัยนี้ออกจากกันเท่านั้น.[4]
5. นอกจากเหตุผลต่างๆข้างต้นแล้ว คุณสมบัติเฉพาะของสุภาพสตรีก็มีส่วนทำให้ต้องระมัดระวังการแต่งกายมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้ก็เนื่องจากสุภาพสตรีมีภาพลักษณ์โดดเด่นในแง่ความวิจิตรสวยงาม ส่วนสุภาพบุรุษโดดเด่นในแง่ของนักแสวงหา จึงควรเตือนให้สุภาพสตรีระมัดระวังการเผยสรีระมากกว่าจะเตือนสุภาพบุรุษ เพราะถึงแม้ศาสนาจะกำชับผู้ชายเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อยกว่า แต่คุณสมบัติเฉพาะดังกล่าวทำให้ผู้ชายมักจะแต่งตัวปกปิดร่างกายมากกว่าผู้หญิง ทั้งนี้ก็เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว ผู้ชายมักจะเอร็ดอร่อยกับการได้จ้องมองความงามของผู้หญิงมากกว่าที่จะเผยสรีระตนเอง และผู้หญิงก็มักจะมีความสุขที่ได้เผยความงามมากกว่าจะจ้องมองผู้ชาย และการที่ผู้ชายปรารถนาจะจ้องมองผู้หญิง มักจะกระตุ้นให้ฝ่ายหญิงสนองตอบด้วยการเผยความงามมากขึ้น เพราะเหตุนี้เองที่“ตะบัรรุจ”(การเผยตน)ถือเป็นหนึ่งในคุณลักษณะของผู้หญิง[5]
6. อีกเหตุผลที่สำคัญก็คือ การแต่งกายมิดชิดจะช่วยยกระดับคุณค่าของสุภาพสตรีในทัศนะของสุภาพบุรุษ ทั้งนี้เนื่องจากนับแต่โบราณ การกำหนดพื้นที่หวงห้ามทางสังคมที่สุภาพสตรีกระทำต่อเพศตรงข้าม ถือเป็นเคล็ดลับที่สุภาพสตรีมักใช้รักษาสถานภาพของตนเองให้แลดูสูงส่งเสมอในทัศนะของเพศตรงข้าม อิสลามสนับสนุนให้รักษาวิธีดังกล่าวไว้ทุกยุคสมัย ด้วยเหตุนี้ หากอิสลามสอนให้สุภาพสตรีเดินเหิรให้แลดูสง่า มั่นคง และรักษาจริตแห่งกุลสตรี และสอนให้หลีกเลี่ยงการเผยสรีระในที่สาธารณะ ก็เนื่องจากอิสลามต้องการจะยกระดับคุณค่าของสุภาพสตรีให้สูงขึ้น และไม่ปล่อยให้เธอเป็นเพียงสินค้าไร้ค่าที่ใครๆก็หยิบฉวยได้ตามใจชอบ[6]
สรุปคือ วัตถุประสงค์ของการปกปิดเรือนร่างในลักษณะที่อิสลามกำหนดไว้ คือการเพิ่มพูนเกียรติภูมิของสุภาพสตรี เนื่องจากฮิญาบจะช่วยปกป้องเธอให้ปลอดภัยจากการแทะโลมของบุคคลที่มักมากในตัณหาราคะ จึงกล่าวได้ว่าฮิญาบมิไช่กรงขัง แต่เป็นรั้วรอบขอบชิดที่ปลอดภัย ทั้งสำหรับตัวเธอเอง และสำหรับสังคมโดยรวมที่จะรอดพ้นจากกิเลศตัณหา.
เพื่อศึกษาเพิ่มเติม กรุณาอ่าน
1. อายะตุลลอฮ์ อะห์มัด มุห์ซินี โฆรฆอนี,ไข่มุกเลอค่าในฮิญาบ,สำนักพิมพ์อุลูมอิสลามี.
2. มุฮัมมัด เอชเทฮอรดี, ฮิญาบ:ภาพพจน์แห่งบุคลิกภาพ,พิมพ์ครั้งแรก,สำนักตำรวจฝ่ายบำบัดปัญหาสังคม.
3. อะห์มัด รอซซากี, สาเหตุอบายมุข, ฮิญาบไม่มิดชิด และวิธีแก้ปัญหา, พิมพ์ครั้งที่สี่, องค์การเผยแผ่อิสลาม.
4. มุฮัมมัด โชญออี, ไข่มุกและหอยมุข,พิมพ์ครั้งที่สาม.
5. อายะตุลลอฮ์ มุรตะฎอ มุเฏาะฮารี, ประเด็นฮิญาบ,สำนักพิมพ์ศ้อดรอ.
6. มุฮซิน กิรออะตี, อาภรณ์สตรีในอิสลาม,พิมพ์ครั้งที่เก้า,สำนักพิมพ์นาศิร.
7. อายะตุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี, สตรีในภาพลักษณ์แห่งความสง่าและความงาม,พิมพ์ครั้งที่สอง, สำนักพิมพ์ระญอ.
8. ฟัตฮียะฮ์ ฟัตตาฮีซอเดะฮ์, ฮิญาบในปริทรรศน์กุรอานและซุนนะฮ์, พิมพ์ครั้งที่สอง, สนง.เผยแผ่อิสลาม.
[1] ซูเราะฮ์นิซาอ์,1:
یا ایها الناس اتقوا ربکم الذی خلقکم من نفس واحدة و خلق منها زوجها و بث منهما رجالا کثیرا و نساء و اتقوا الله الذی تسالون به و الارحام ان الله کان علیکم رقیبا
[2] อัลมีซานฉบับแปล, เล่ม 2 หน้า 416.
[3] เช่น..วาญิบต้องปกปิดเอาเราะฮ์ ส่วนบริเวณอื่นของร่างกายก็จำเป็นต้องปิดเฉพาะในกรณีที่หากเพศตรงข้ามเห็นแล้วจะเกิดความไคร่ ยกเว้นบริเวณที่เปิดโดยปกติ(เช่นใบหน้าและศีรษะ). ปัญหาฟิกเกาะฮ์ใหม่, เล่ม 3,หน้า 227,228.
[4] มุรตะฎอ มุเฏาะฮะรี, รวมงานประพันธ์,เล่ม 19, หน้า 432.
[5] มุรตะฎอ มุเฏาะฮะรี, รวมงานประพันธ์,เล่ม 19, ภาคประเด็นฮิญาบ,การปกปิดเอาเราะฮ์.
[6] ดู: อ้างแล้ว, แตกต่างเล็กน้อย.