Please Wait
11329
นักอรรถาธิบายกุรอานแสดงทัศนะเกี่ยวกับโองการประเภทนี้แตกต่างกัน นักอรรถาธิบายยุคแรกส่วนใหญ่เชื่อว่าควรถือตามความหมายทั่วไปของโองการ แต่“อาลูซี”ได้หักล้างแนวคิดดังกล่าวพร้อมกับนำเสนอคำตอบไว้ในตำราอธิบายกุรอานของตน
นักอรรถาธิบายบางคนอย่างเช่นผู้ประพันธ์ “ตัฟซี้รฟีซิล้าล”ข้ามประเด็นนี้ไปอย่างง่ายดายเพราะเชื่อว่าโองการประเภทนี้เป็นเนื้อหาที่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ ส่วนบางคนก็อธิบายลึกซึ้งกว่าความหมายทั่วไป โดยเชื่อว่าฟากฟ้าที่เป็นเขตพำนักของเหล่ามลาอิกะฮ์นี้ เป็นมิติที่พ้นญาณวิสัยที่มีสถานะเหนือกว่าโลกของเรา ส่วนการที่กลุ่มชัยฏอนพยายามเข้าใกล้ฟากฟ้าดังกล่าวเพื่อจารกรรมข้อมูล จึงถูกกระหน่ำด้วยอุกกาบาตนั้น หมายถึงการที่เหล่าชัยฏอนต้องการจะเข้าสู่มิติแห่งมลาอิกะฮ์เพื่อจะทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคต แต่ก็ถูกขับไล่ด้วยลำแสงของมิติดังกล่าวซึ่งชัยฏอนไม่สามารถจะทนได้
โองการที่เก้า ซูเราะฮ์ญิน กล่าวถึงคำพูดของญินที่ว่า وَ أَنَّا كُنَّا نَقْعُدُ مِنْها مَقاعِدَ لِلسَّمْعِ فَمَنْ يَسْتَمِعِ الْآنَ يَجِدْ لَهُ شِهاباً رَصَداً (เราเคยสอดแนมเพื่อแอบฟัง ทว่าหากผู้ใดสอดแนม ณ เวลานี้ ก็จะประสบกับอุกกาบาตที่เฝ้าระวังตลอดเวลา)[1]
ก่อนจะเข้าสู่การอรรถาธิบาย ความทราบความหมายของคำสำคัญดังต่อไปนี้
1. “อิสติรอกุส สัมอ์” อิสติร้อก มาจากรากคำ “สะริเกาะฮ์”ที่แปลว่าการขโมย[2] ซึ่งหมายถึงการหยิบฉวยทรัพย์สินไปโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว ส่วน “อิสติรอกุสสัมอ์” หมายถึงการขโมยวาจา อันหมายถึง “การที่มีใครสักคนแอบฟังคำสนทนาระหว่างคนสองคนซึ่งมิได้ต้องการให้ผู้อื่นได้ยิน” การกระทำดังกล่าวถือเป็นบาปใหญ่ประเภทหนึ่ง[3]
2. ชิฮ้าบ ในพจนานุกรมให้ความหมายว่า เพลิงที่ลุกโชติช่วง[4]
3. เราะศ็อด ในพจนานุกรมให้ความหมายว่า การเฝ้าระวัง, การดักซุ่ม, ผู้เฝ้าระวัง[5]
เนื้อหาของโองการข้างต้นปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์อื่นๆสองครั้งดังต่อไปนี้
ก. ซูเราะฮ์ อัศศ้อฟฟ้าต “เว้นแต่ผู้ที่เข้าใกล้ฟากฟ้าเป็นเวลาสั้นๆเพื่อจารกรรมข้อมูล ซึ่งจะถูกไล่ล่าด้วย “ชิฮาบิน ษากิ๊บ”[6]
ข. ซูเราะฮ์ ฮิจร์ “เว้นแต่ผู้ที่จารกรรมข้อมูล (แอบฟัง) ซึ่งจะถูกไล่ล่าด้วย “ชิฮาบิน ษากิ๊บ”[7]
บรรดานักอรรถาธิบายได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับโองการเหล่านี้ไว้แตกต่างกันดังนี้
1. นักอรรถาธิบายบางคนอย่างเช่นผู้ประพันธ์ตัฟซี้ร “ฟีซิลาลิลกุรอาน”ข้ามประเด็นนี้ไปอย่างง่ายดาย โดยกล่าวว่าโองการประเภทนี้ถือเป็นเนื้อหาที่พ้นญาณวิสัยของมนุษย์ และเราควรเน้นเฉพาะสิ่งที่มีผลต่อวิถีชีวิตในเชิงปฏิบัตินั้น ทั้งนี้ ผู้เขียนมิได้แจกแจงประเด็นนี้อย่างละเอียด โดยกล่าวเพียงว่า “การที่ชัยฏอนจะแอบฟังอย่างไร หรือจารกรรมข้อมูลใดนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นความลี้ลับของอัลลอฮ์ที่ไม่อาจไขปริศนาได้ด้วยตัวบทกุรอานหรือฮะดีษ ซึ่งหากจะนำมาวิเคราะห์กันก็เห็นทีจะเปล่าประโยชน์ เพราะนอกจากจะไม่เพิ่มศรัทธาของเราแล้ว ยังทำให้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรา อีกทั้งยังฉุดรั้งมิให้สนใจหน้าที่ที่พึงปฏิบัติในชีวิตด้วย”[8]
ผู้ประพันธ์ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์ได้แย้งทัศนะดังกล่าวว่า “ไม่เป็นที่สงสัยใดๆเลยว่ากุรอานคือคัมภีร์ที่อบรมและขัดเกลามนุษย์สู่ชีวิตที่แท้จริง กุรอานย่อมนำเสนอเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์เท่านั้น คำสอนกุรอานล้วนเป็นบทเรียนแห่งชีวิต ทั้งนี้ก็เพราะกุรอานคือรัศมีและเป็นคัมภีร์อันชัดแจ้ง ซึ่งประทานมาเพื่อความรู้ความเข้าใจและนำทางมนุษยชาติ เพราะฉะนั้น เหตุใดความเข้าใจกุรอานจึงจะไม่เกี่ยวกับเรา? เราไม่เห็นด้วยกับการแสดงทัศนะเช่นนี้ต่อโองการประเภทดังกล่าว”[9]
2. นักอรรถาธิบายอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นนักอรรถาธิบายยุคก่อน พยายามจะอธิบายโองการเหล่านี้ด้วยความหมายทั่วไป โดยเชื่อว่า:
“สะมาอ์ หมายถึงท้องฟ้า ส่วน ชิฮ้าบ ก็คืออุกกาบาตทั่วไป ส่วนชัยฏอนก็หมายถึงสิ่งมีชีวิตจอมฝ่าฝืน ที่ต้องการจะท่องไปบนฟากฟ้าชั้นต่างๆ และพยายามแอบฟังข่าวคราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในโลกที่กล่าวขานกันบนฟากฟ้า เพื่อที่จะนำมาบอกเล่าแก่มนุษย์ที่เป็นสาวกของมัน แต่อุกกาบาตก็พุ่งใส่พวกมันเสมือนลูกธนูเพื่อขับไล่มิให้พวกมันขึ้นมาแอบฟังข่าวคราวสำเร็จ”[10]
อาลูซี กล่าวถึงทัศนะข้างต้นพร้อมกับนำเสนอข้อโต้แย้งหลายประการ ซึ่งล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีทางดาราศาสตร์โบราณ อาทิเช่นทฤษฎีเอกภพเปลือกหัวหอม ฯลฯ โดยได้นำเสนอคำตอบไว้ด้วย ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากตัฟซี้รของเขา[11]
3. เมื่อเชื่อมโยงโองการที่เก้าเข้ากับโองการก่อนหน้านี้ ก็จะได้ใจความว่าชั้นฟ้าเพิ่งจะมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในภายหลัง ซึ่งก่อนหน้านี้เหล่าญินสามารถเข้าสู่ชั้นฟ้าเบื้องบนได้อย่างอิสระ และพยายามดักฟังข่าวคราวเร้นลับที่ได้จากการสนทนาของเหล่ามลาอิกะฮ์อย่างใจจดใจจ่อ” และการที่มีตัว “ฟาอ์”ใน .فَمَنْ... ที่สื่อถึงผลลัพท์ ทำให้มีใจความว่าเหล่าญินต้องการจะสื่อว่า นับแต่นี้เป็นต้นไป หากญินตนใดหมายจะขึ้นไปดักฟังข่าวคราวบนฟากฟ้าเช่นเดิม ก็จะถูกโจมตีด้วยอุกกาบาตที่มีลักษณะเหมือนการซุ่มยิงธนู
เมื่อศึกษาเนื้อหาของสองโองการดังกล่าวทำให้ทราบวา เหล่าญินพบปรากฏการณ์แปลกใหม่บนฟากฟ้าที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงแห่งการประทานกุรอานและการแต่งตั้งท่านนบี(ซ.ล.) ปรากฏการณ์นั้นก็คือ ญินทั้งหมดไม่สามารถจะแอบฟังข่าวคราวลี้ลับบนฟากฟ้าได้อีกภายหลังจากการแต่งตั้งท่านนบี(ซ.ล.)[12]
ท่านอัลลามะฮ์ เฏาะบาเฏาะบาอีกล่าวไว้ในหนังสือของท่านว่า “สิ่งที่กล่าวได้ว่าเป็นข้อสันนิษฐานหนึ่งในที่นี้ก็คือ สำนวนเช่นนี้ถือเป็นการเปรียบเปรย เพื่อจะสื่อให้เข้าใจถึงภาวะที่พ้นญาณวิสัยด้วยตัวอย่างที่สัมผัสได้ ดังที่พระองค์ทรงกล่าวไว้ว่า “เหล่านี้ล้วนเป็นอุปมาอุปไมยที่เราได้แสดงแก่มนุษย์ และไม่มีผู้ใดจะเข้าใจเว้นแต่เหล่าผู้รู้เท่านั้น” สำนวนการเปรียบเปรยเช่นนี้มีมากมายในกุรอาน[13] อาทิเช่น อะร็อช (บัลลังก์) กุรซี (เก้าอี้) หนังสือ โล่ห์ ฯลฯ
ฉะนั้นจึงสามารถจะกล่าวได้ว่าฟากฟ้าที่เป็นเขตพำนักของเหล่ามลาอิกะฮ์นี้ หมายถึงมิติที่พ้นญาณวิสัยซี่งมีสถานะเหนือกว่าโลกของเรา ส่วนการที่กลุ่มชัยฏอนพยายามเข้าใกล้ฟากฟ้าดังกล่าวเพื่อจารกรรมข้อมูล จึงถูกกระหน่ำด้วยอุกกาบาตนั้น หมายถึงการที่เหล่าชัยฏอนต้องการจะเข้าสู่มิติแห่งมลาอิกะฮ์เพื่อจะทราบถึงเหตุการณ์ในอนาคต แต่ก็ถูกขับไล่ด้วยลำแสงของมิติดังกล่าวซึ่งชัยฏอนไม่สามารถจะทนได้[14]
อนึ่ง ทัศนะที่ได้นำเสนอไปทั้งหมดนั้น ถือได้ว่าเป็นสามทัศนะที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดเกี่ยวกับโองการประเภทนี้
[1] อัลญิน,9
[2] ลิซานุ้ลอรับ,เล่ม 10,หน้า 156
[3] ฏ็อยยิบ,ซัยยิด อับดุลฮุเซน,อัฏยะบุ้ลกุรอาน,เล่ม 8,หน้า 20,สำนักพิมพ์อิสลาม,พิมพ์ครั้งที่สอง,เตหราน,ปี 1378
[4] รอฆิบ,มุฟเราะด้าต ฟี เฆาะรีบิลกุรอาน,เล่ม1,หน้า 465
[5] ปทานุกรมกุรอาน,เล่ม 3,หน้า 101
[6] إِلاَّ مَنْ خَطِفَ الْخَطْفَةَ فَأَتْبَعَهُ شِهابٌ ثاقِبٌ".
[7] إِلاَّ مَنِ اسْتَرَقَ السَّمْعَ فَأَتْبَعَهُ شِهابٌ مُبينٌ
[8] ชาซิลี,ซัยยิด บิน กุฏบ์,ตัฟซี้รฟีซิลาลิลกุรอาน,เล่ม 4,หน้า 213,สำนักพิมพ์ดารุชชุรู้ก,พิมพ์ครั้งที่สิบเจ็ด,เบรุต,ฮ.ศ.1412
[9] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 11,หน้า 43,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,พิมพ์ครั้งแรก,เตหราน,ปี 1374
[10] เพิ่งอ้าง
[11] อาลูซี,ซัยยิดมะฮ์มู้ด,รูฮุลมะอานี,เล่ม 7,หน้า 270,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,พิมพ์ครั้งแรก,เบรุต,ฮ.ศ.1415
[12] เฏาะบาเฏาะบาอี,ซัยยิดมุฮัมมัด ฮุเซน,อัลมีซาน,แปลโดยมูซะวี,เล่ม 20,หน้า 64
[13] อัลอังกะบู้ต,43 وَ تِلْكَ الْأَمْثالُ نَضْرِبُها لِلنَّاسِ وَ ما يَعْقِلُها إِلَّا الْعالِمُونَ
[14] อัลมีซาน,เล่ม 17,หน้า 186,187