Please Wait
12011
คำว่า“อะฮ์ลุลบัยต์”เป็นศัพท์ที่ปรากฏในกุรอาน ฮะดีษ และวิชาเทววิทยาอิสลาม อันหมายถึงครอบครัวท่านนบี(ซ.ล.) ความหมายนี้มีอยู่ในโองการตัฏฮี้ร(อายะฮ์ 33 ซูเราะฮ์ อะห์ซาบ).
นักอรรถาธิบายกุรอานฝ่ายชีอะฮ์ทั้งหมด และฝ่ายซุนหนี่บางส่วนแสดงทัศนะฟันธงว่า โองการดังกล่าวประทานมาเพื่อกรณีของชาวผ้าคลุม อันหมายถึงตัวท่านนบี ท่านอิมามอลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน. อะฮ์ลุลบัยต์ในที่นี้จึงหมายถึงบุคคลเหล่านี้ (อ้างจากฮะดีษที่รายงานจากอิมามอลี อิมามฮะซัน อิมามฮุเซน อิมามซัยนุลอาบิดีน และอิมามท่านอื่นๆ รวมทั้งที่รายงานจากอุมมุสะลามะฮ์ อาอิชะฮ์ อบูสะอี้ดคุดรี อิบนุอับบาส ฯลฯ)
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษจากสายชีอะฮ์และซุนหนี่ระบุว่า อะฮ์ลุลบัยต์หมายรวมถึงอิมามซัยนุลอาบิดีนจนถึงอิมามมะฮ์ดี(อ.)ด้วยเช่นกัน.
อะฮ์ลุลบัยต์เป็นศัพท์ที่ปรากฏในกุรอาน ฮะดีษ และวิชาเทววิทยาอิสลามอันหมายถึงครอบครัวท่านนบี(ซ.ล.) ความหมายนี้ปรากฏในโองการตัฏฮี้ร(อายะฮ์ 33 ซูเราะฮ์ อะห์ซาบ) “انما یرید الله لیذهب عنکم الرجس اهل البیت و یطهرکم تطهیرا” (แท้จริง อัลลอฮ์ต้องการเพียงขจัดมลทินจากสูเจ้า(โอ้)อะฮ์ลุลบัยต์ และชำระสูเจ้าให้สะอาด)
รากศัพท์คำว่า“อะฮ์ลุน”หมายถึงความคุ้นเคยและใกล้ชิด[1] ส่วนคำว่า“บัยตุน”แปลว่าสถานที่พำนักและค้างแรม[2]. อะฮ์ลุลบัยต์ตามความหมายทั่วไปแปลว่าเครือญาติใกล้ชิด[3] แต่ก็อาจกินความหมายรวมไปถึงทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งในแง่สายเลือด ศาสนา ที่อยู่ มาตุภูมิ ฯลฯ ได้เช่นกัน[4]
แต่ในมุมวิชาการแล้ว ทั้งนักเทววิทยาอิสลาม นักรายงานฮะดีษ และนักอรรถาธิบายกุรอาน ต่างใช้คำว่าอะฮ์ลุลบัยต์เพื่อสื่อความหมายเฉพาะทาง เนื่องจากทราบดีว่ามีฮะดีษมากมายจากท่านนบี(ซ.ล.)และบรรดาอิมามที่ขยายความคำนี้ ทำให้ทราบว่ามีความหมายอันจำกัด
ส่วนคำดังกล่าวควรจะจำกัดความหมายเฉพาะบุคคลกลุ่มใดนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ
1. นักตัฟซีร(อรรถาธิบายกุรอาน)ฝ่ายซุนหนี่บางท่านเชื่อว่า อายะฮ์นี้กล่าวถึงภรรยานบีเท่านั้น เนื่องจากประโยคแวดล้อมล้วนกล่าวถึงภรรยานบีทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีฮะดีษที่สนับสนุนความหมายนี้ซึ่งรายงานจากอิบนิอับบาส โดยมีอิกริมะฮ์ มุกอติล และอิบนิ ญุบัยร์เป็นผู้รายงาน เรื่องมีอยู่ว่า อิกริมะฮ์ป่าวร้องทั่วทั้งตลาดว่า “อะฮ์ลุลบัยต์หมายถึงภรรยานบีเท่านั้น ใครคัดค้านขอให้มาสาบานสาปแช่งกับฉัน”[5]
แต่ยังมีนักตัฟซีรฝ่ายซุนหนี่บางส่วน และฝ่ายชีอะฮ์ทั้งหมดโต้แย้งทัศนะดังกล่าวว่า หากอะฮ์ลุลบัยต์ที่กล่าวในโองการนี้จำกัดเฉพาะภรรยานบีจริง สรรพนามในโองการนี้ก็ควรที่จะคงรูปเป็นพหูพจน์เพศหญิงต่อไป และควรเป็น “عنکن و یطهرکن”มิไช่“عنکم و یطهرکم”ซึ่งอยู่ในรูปพหูพจน์เพศชายดังที่อายะฮ์กล่าวไว้.
ส่วนฮะดีษที่อ้างมาเพื่อสนับสนุนก็ยังมีข้อเคลือบแคลงอยู่ อบูฮัยยาน ฆ็อรนาฏี(ผู้รู้ฝ่ายซุนหนี่)ยังตั้งข้อสงสัยถึงการเชื่อมโยงถึงอิบนิ อับบาส. อิบนิกะษี้รกล่าวว่า หากฮะดีษนี้ต้องการจะสื่อเพียงว่า ภรรยานบีเป็นสาเหตุของการประทานโองการดังกล่าว เราก็ถือว่าถูกต้อง แต่หากจะอ้างว่าฮะดีษนี้เจาะจงว่า กลุ่มภรรยานบีเท่านั้นที่เป็นอะฮ์ลุลบัยต์ เราถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีฮะดีษมากมายหักล้างความคิดเช่นนี้.[6]
อย่างไรก็ดี คำพูดของอิบนิกะษี้รที่ว่า“ภรรยานบีคือสาเหตุของการประทานโองการนี้” ก็ยังไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากคำพูดนี้ขัดต่อเบาะแสแวดล้อมของโองการดังกล่าว และยังขัดต่อฮะดีษอีกหลายบทที่ตนเองให้การยอมรับ.
2. นักตัฟซีรซุนหนี่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า อะฮ์ลุลบัยต์ในอายะฮ์นี้ หมายถึงภรรยานบี(ซ.ล.) รวมทั้งท่านอิมามอลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อิมามฮะซัน และอิมามฮุซัยน์(อ.)[7] ทว่าผู้นำเสนอทัศนะนี้มิได้เสนอฮะดีษใดๆเพื่อสนับสนุน.
3. นักตัฟซีรบางท่านเชื่อว่า สำนวนในโองการดังกล่าวเป็นสำนวนเชิงกว้าง ซึ่งหมายรวมถึงสมาชิกครอบครัวท่านนบี(ซ.ล.)ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือบุตรหลาน หรือแม้กระทั่งทาสและทาสีที่เคยรับใช้ท่าน ษะอ์ละบีอ้างว่า คำดังกล่าวครอบคลุมถึงบนีฮาชิมทุกคนหรือไม่ก็เฉพาะผู้ศรัทธาที่เป็นบนีฮาชิม[8] ทัศนะนี้ก็มิได้อ้างอิงหลักฐานใดๆเช่นกัน.
4. นักตัฟซีรอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า อะฮ์ลุลบัยต์อาจจะหมายถึงบุคคลที่ไม่อนุญาตให้รับเศาะดะเกาะฮ์ ทัศนะนี้อ้างอิงฮะดีษจาก เซด บินอัรก็อมที่มีผู้ถามเขาว่า อะฮ์ลุลบัยต์นบี(ซ.ล.)มีใครบ้าง? หมายรวมถึงภรรยานบีหรือไม่? เซดตอบว่า แม้ว่าโดยปกติ ภรรยาจะนับเป็นอะฮ์ลุลบัยต์(ผู้ใกล้ชิด) แต่อะฮ์ลุลบัยต์นบีนั้น หมายถึงบุคคลที่ไม่อนุญาตให้รับเศาะดะเกาะฮ์ อันหมายถึงลูกหลานอลี(อ.) ลูกหลานอะกี้ล ลูกหลานญะฟัร และลูกหลานอับบาส[9]” อย่างไรก็ดี ผู้รู้ฝ่ายซุนหนี่อย่างอบุลฟุตู้ห์ รอซี เชื่อว่าทัศนะดังกล่าวไม่แข็งแรงพอ.
5. นักตัฟซีรฝ่ายชีอะฮ์ทั้งหมด และฝ่ายซุนหนี่ไม่น้อยเชื่อว่าโองการนี้ประทานในกรณีของท่านนบี อิมามอลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อิมามฮะซันและอิมามฮุเซน และถือว่าคำว่าอะฮ์ลุลบัยต์มีความหมายเจาะจงบุคคลเหล่านี้เท่านั้น ทั้งนี้โดยอ้างอิงพยานหลักฐานต่างๆ โดยเฉพาะฮะดีษมากมายที่รายงานจากท่านนบี อิมามอลี อิมามฮะซันและอิมาฮุเซน อิมามซัยนุลอาบิดีน และอิมามท่านอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอุมมุสะลามะฮ์ อาอิชะฮ์ อบูสะอี้ดคุ้ดรี อิบนิอับบาส และศ่อฮาบะฮ์ท่านอื่นๆรายงานด้วยเช่นกัน
หากเชื่อตามนี้ สิ่งที่ยังเป็นที่สงสัยก็คือ เป็นไปได้อย่างไรที่อัลลอฮ์จะกล่าวเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวข้องกับภรรยานบี ท่ามกลางประโยคที่กำลังตักเตือนภรรยานบีอยู่? สามารถตอบได้ดังนี้
1. เชคฏอบัรซีตอบว่า นี่ไม่ไช่กรณีเดียวที่พบว่าโองการต่างๆที่แม้จะเรียงต่อกันแต่กลับกล่าวคนละประเด็น มีกรณีเช่นนี้มากมายในกุรอาน นอกจากนี้ยังพบได้ในกาพย์โคลงกลอนของนักกวีอรับมากมาย[10]
2. อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี ตอบเสริมไว้ว่า ไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์ว่าโองการ
انما یرید الله لیذهب عنکم الرجس اهل البیت و یطهرکم تطهیراًนั้น ประทานมาในคราวเดียวกันกับโองการข้างเคียง ตรงกันข้าม มีฮะดีษยืนยันว่าโองการนี้ประทานลงมาโดยเอกเทศ แต่ในภายหลังได้รับการจัดให้อยู่ในแวดล้อมของโองการเกี่ยวกับภรรยานบีโดยคำสั่งนบีเอง หรือโดยทัศนะผู้รวบรวมกุรอานภายหลังนบี[11]
3. ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์นำเสนอคำตอบที่สามไว้ว่า เหตุที่โองการดังกล่าวอยู่ในแวดล้อมของโองการภรรยานบีก็เพราะ อัลลอฮ์ทรงประสงค์จะกำชับให้กลุ่มภรรยานบีคำนึงเสมอว่า พวกนางอยู่ในครอบครัวที่มีสมาชิกบางส่วนเป็นผู้ปราศจากบาป ฉะนั้น ควรจะต้องระมัดระวังอากัปกิริยาให้มากกว่าผู้อื่น เพราะเมื่อมีสถานะเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ปราศจากบาปแล้ว อัลลอฮ์และเหล่าผู้ศรัทธาย่อมจับตาพวกนางเป็นพิเศษ อันส่งผลให้มีภาระหน้าที่เพิ่มมากขึ้น[12]
ส่วนฮะดีษที่กล่าวถึงสาเหตุของการประทานโองการดังกล่าวนั้นมีมากมาย จำแนกตามเนื้อหาได้ดังนี้
1. กลุ่มฮะดีษที่ระบุชัดเจนว่า บุคคลทั้งห้าที่ได้เอ่ยนามมาแล้วคืออะฮ์ลุลบัยต์และเป็นบุคคลที่โองการกล่าวถึง[13]
2. กลุ่มฮะดีษที่มีเนื้อหาสนับสนุนฮะดีษกิซาอ์ เช่นฮะดีษที่รายงานโดยอบูสะอี้ดคุดรี อนัสบินมาลิก อิบนิอับบาส อบุลฮัมรออ์ อบูบัรซะฮ์
ที่กล่าวว่า ท่านนบีกล่าวคำว่า “السلام علیکم اهل البیت و رحمة الله و برکاته، الصلاة یرحمکم الله” และอัญเชิญโองการตัฏฮี้รหน้าบ้านท่านอิมามอลี(อ.)ก่อนนมาซซุบฮิ(บางรายงานกล่าวว่าทุกเวลานมาซ)เป็นประจำตลอดระยะเวลาสี่สิบวัน หรือหกเดือน หรือเก้าเดือน(ตามสำนวนรายงาน)[14]
หนังสือชะเราะฮ์อิห์กอกุ้ลฮักก์[15] ได้รวบรวมแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับเรื่องนี้กว่าแปดสิบแห่ง แน่นอนว่าแหล่งอ้างอิงฝ่ายชีอะฮ์ย่อมมีมากกว่านี้[16]
ฉะนั้น จากฮะดีษที่ยกมาทั้งหมด ทำให้มั่นใจได้ว่าอะฮ์ลุลบัยต์ที่กล่าวถึงในโองการ 33 ซูเราะฮ์อะห์ซาบ หมายถึงท่านนบี(ซ.ล.) อิมามอลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.)
นอกจากนี้ คำว่าอะฮ์ลุลบัยต์ยังหมายรวมถึงอิมามท่านอื่นๆ นับจากอิมามซัยนุลอาบิดีนจนถึงอิมามมะฮ์ดีด้วยเช่นกัน
อบูสะอี้ดคุดรีรายงานฮะดีษท่านนบีว่า ฉันขอฝากฝังสองสิ่งสำคัญไว้ในหมู่พวกท่าน นั่นคือคัมภีร์ของอัลลอฮ์อันเปรียบดังสายเชือกที่ขึงจากฟากฟ้าสู่ผืนดิน และอีกประการคืออะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน สองสิ่งนี้จะไม่แยกจากกันตราบวันกิยามะฮ์”[17]
อบูซัร ฆิฟารี รายงานฮะดีษท่านนบีว่า“อุปมาอะฮ์ลุลบัยต์ของฉันเปรียบดังสำเภาแห่งนู้ห์ ใครที่โดยสารจะปลอดภัย และใครเมินเฉยจะจมน้ำ”[18]
อิมามอลี(อ.)รายงานฮะดีษท่านนบีว่า“ฉันขอฝากฝังสองสิ่งสำคัญไว้กับพวกท่าน คัมภีร์ของอัลลอฮ์และอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน สองสิ่งนี้จะไม่แยกกันจวบจนกิยามะฮ์(ประดุจสองนิ้วจรดกัน)” ญาบิรเอ่ยถามว่า“ใครเล่าคืออะฮ์ลุลบัยต์ของท่าน?” ท่านนบีตอบว่า“อลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซัน ฮุซัยน์ และบรรดาอิมามจากลูกหลานของฮุซัยน์จวบจนวันกิยามะฮ์”[19]
อิมามอลี(อ.)เล่าว่า ฉันอยู่ในบ้านของอุมมุสะลามะฮ์กับท่านนบี(ซ.ล.)กระทั่งโองการانما یرید اللّه لیذهب عنکم الرجس اهل البیت ประทานลงมา ท่านนบีกล่าวกับฉันว่า“โองการนี้กล่าวถึงเธอและลูกๆของเธอ ฮะซันและฮุซัยน์ ตลอดจนบรรดาอิมามลูกหลานของเธอที่จะถือกำเนิด” ฉันเอ่ยถามว่า โอ้เราะซูลุลลอฮ์ ภายหลังจากท่านจะมีอิมามกี่คนหรือ? ท่านตอบว่า“ฮะซันจะเป็นอิมามต่อจากเธอ จากนั้นฮุซัยน์ จากนั้นอลีบุตรของฮุซัยน์ จากนั้นมุฮัมมัดบุตรอลี จากนั้นญะฟัรบุตรมุฮัมมัด จากนั้นมูซาบุตรญะฟัร จากนั้นอลีบุตรมูซา จากนั้นมุฮัมมัดบุตรอลี จากนั้นอลีบุตรมุฮัมมัด จากนั้นฮะซันบุตรอลี จากนั้น ผู้เป็นบทพิสูจน์(อัลฮุจญะฮ์)บุตรฮะซัน นามเหล่านี้จารึกไว้ ณ เบื้องอะร็อชของอัลลอฮ์ และฉันเคยทูลถามพระองค์ว่านามเหล่านี้เป็นใคร? พระองค์ทรงตอบว่า เหล่านี้คือบรรดาอิมามภายหลังจากเจ้า พวกเขาบริสุทธิและศัตรูของพวกเขาล้วนถูกสาปแช่ง”[20]
นอกจากนี้ยังมีฮะดีษมากมายที่ระบุว่าอิมามสิบสองท่านของชีอะฮ์ก็คืออะฮ์ลุลบัยต์นั่นเอง โดยที่อิมามศอดิก(อ.)และอิมามท่านอื่นๆก็ระบุชัดเจนว่าตนเองเป็นสมาชิกอะฮ์ลุลบัยต์เช่นกัน[21]
กล่าวได้ว่า เหตุผลที่กุรอานเน้นย้ำถึงสถานภาพอันสูงส่งของอะฮ์ลุลบัยต์นั้น ก็เพื่อให้ผู้ศรัทธาก้าวตามแนวทางของพวกเขา เพื่อให้บรรลุทางนำแห่งจิตวิญญาณ(เพราะจุดประสงค์หลักของกุรอานคือการนำทางมนุษย์“الم ذلک الکتاب لاریب فیه هدی للمتقین”[22]) จากการที่บรรดาอิมามชีอะฮ์ถือเป็นผู้นำทางสำหรับประชาชาติอิสลาม จึงทำให้พวกเขาได้รับการรวมไว้ในสถานภาพแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อท่านนบี(ซ.ล.)ในฐานะที่ผู้อธิบายกุรอาน ต้องการจะกล่าวถึงตำแหน่งผู้นำภายหลังจากท่านเมื่อใด ท่านจะใช้คำว่าอะฮ์ลุลบัยต์เสมอ.
เพื่อข้อมูลเพิ่มเติม เชิญอ่าน
อะฮ์ลุลบัยต์นบี(ซ.ล.), คำถามที่833,1249
บทบาทและเป้าหมายของอะฮ์ลุลบัยต์(อ.), คำถามที่900.
[1] ฟะยูมี,มิศบาฮุ้ลมุนี้ร,หน้า 28.
[2] อ้างแล้ว,หน้า 68.
[3] อ้างแล้ว.
[4] รอฆิบ อิศฟะฮานี,มุฟร่อด้าต อัลฟาซุลกุรอาน,หน้า 29.
[5] ฏอบะรี,ญามิอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซี้ริลกุรอาน,เล่ม 22,หน้า 7.
[6] อิบนุกะษี้ร,ตัฟซีริลกุรอานิลอะซีม,เล่ม 5,หน้า 452-453.
[7] ฟัครุรอซี,ตัฟซี้ร กะบี้ร,เล่ม 25,หน้า 209 และ บัยฎอวี,อันว้ารุตตันซี้ล วะอัสร้อรุตตะอ์วีล,เล่ม 4,หน้า 163. และ อบูฮัยยาน,อัลบะฮ์รุลมุฮี้ฏ ฟิตตัฟซี้ร,เล่ม 7,หน้า 232.
[8] กุรฏุบี,อัลญามิอุ้ลอะห์กามิลกุรอาน,เล่ม 14,หน้า 183. และ อาลูซี,รูฮุลมะอานี,เล่ม 22,หน้า 14.
[9] อบูฮัยยาน,อัลบะฮ์รุลมุฮี้ฏ ฟิตตัฟซี้ร,เล่ม 7,หน้า 231-232.
[10] ฏอบัรซี,มัจมะอุ้ลบะยาน,เล่ม 7,หน้า 560.
[11] อัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอี,อัลมีซาน,เล่ม 16,หน้า 312. และ ฟัครุรอซี,ตัฟซี้ร กะบี้ร,เล่ม 25,หน้า 209. และ บัยฎอวี,อันว้ารุตตันซี้ล วะอัสร้อรุตตะอ์วีล,เล่ม 4,หน้า 163. และ อบูฮัยยาน,อัลบะฮ์รุลมุฮี้ฏ ฟิตตัฟซี้ร,เล่ม 7,หน้า 232. และ กุรฏุบี,อัลญามิอุ้ลอะห์กามิลกุรอาน,เล่ม 14,หน้า 183. และ อาลูซี,รูฮุลมะอานี,เล่ม 22,หน้า 14. และ ฏอบัรซี,มัจมะอุ้ลบะยาน,เล่ม 7,หน้า 560. และ อบูฮัยยาน,อัลบะฮ์รุลมุฮี้ฏ ฟิตตัฟซี้ร,เล่ม 7,หน้า 231-232.
[12] ตัฟซีร เนมูเนะฮ์,เล่ม17 ,หน้า 295.
[13] บุคอรี,อัตตารี้ค,เล่ม 2,หน้า 69-70. และ ติรมิซี,สุนัน,เล่ม 5,หน้า 663. และ ฏอบะรี,ญามิอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซี้ริลกุรอาน,เล่ม 22,หน้า 6-7. และ กุรฏุบี,อัลญามิอุ้ลอะห์กามิลกุรอาน,เล่ม 14,หน้า 183. และ อัลฮากิม,อัลมุสตัดร้อก,เล่ม 2,หน้า 416:3146.
[14] ฏอบะรี,ญามิอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซี้ริลกุรอาน,เล่ม 22,หน้า 5-6. และ บุคอรี,อัลกุนา,หน้า 25-26. และ อะห์มัดบินฮัมบัล,อัลมุสนัด,เล่ม 3,หน้า 259. และ ฮัสกานี,ชะวาฮิดุตตันซี้ล,เล่ม2,หน้า 11-15. และ สุยูฏี,ดุรรุลมันษู้ร,เล่ม 6,หน้า 606-607.
[15] มัรอะชี,ชะเราะฮ์ อิห์กอกุ้ลฮักก์,เล่ม 2,หน้า 502,647, และ เล่ม 9,หน้า2,91.
[16] ส่วนหนึ่งของข้อเขียนนี้ได้ข้อมูลจากหนังสือแนะนำอะฮ์ลุลบัยต์ เขียนโดยอลี อะลอโมโรดัชที,หน้า 301-308.
[17] ติรมิซี,สุนัน,เล่ม 5,หน้า 663. บทว่าด้วยความประเสริฐของอะฮ์ลุลบัยต์นบี ฮะดีษที่ 3788.
[18] อัลฮากิม,อัลมุสตัดร้อก,เล่ม 3,หน้า 150. และ ซะฮะบี,มีซานุ้ลอิอ์ติด้าล,เล่ม 1,หน้า 224.
[19] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 23,หน้า 147.
[20] อ้างแล้ว.เล่ม 36,หน้า 336 ฮะดีษที่ 199.
[21] อัลกาฟี,เล่ม 1,หน้า 349,ฮะดีษที่ 6.
[22] ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์1,2.