Please Wait
7030
บางคนอาจจะคิดว่าอิสลามมีอคติเกี่ยวกับบทกลอนบทกวี แต่นี่เป็นเพียงความเข้าใจผิดเท่านั้น
ไม่เป็นที่สงสัยว่าพรสวรรค์ด้านกวีนิพนธ์ก็เปรียบเสมือนความสามารถด้านอื่นๆของมนุษย์ที่จะมีคุณค่าต่อเมื่อนำไปใช้ในทางที่ดี แต่หากนำไปใช้บ่อนทำลายจริยธรรมในสังคม อันจะสร้างความเสื่อมทราม นำพาสู่ความไร้แก่นสารและจินตนาการอันเลื่อนลอย หรือหากใช้เป็นเครื่องบันเทิงที่ไร้สาระ บทกวีเหล่านี้ก็จะถือว่าไร้คุณค่าและมีอันตรายทันที
เป็นที่น่าเสียดายที่บทกวีถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดในหลายยุคหลายสมัย พรสวรรค์จากอัลลอฮ์ประเภทนี้ถูกสังคมที่ฟอนเฟะแปรสภาพเป็นเครื่องมือทำลายจริยธรรมในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคญาฮิลียะฮ์อันเป็นยุคแห่งความถดถอยทางความคิดของชนชาติอรับนั้น “บทกวี” “สุราเมรัย” และ “การปล้นสดมภ์”เป็นเรื่องที่ควบคู่กันเสมอมา แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าบทกวีที่มีเนื้อหาสูงส่งสามารถสร้างวีรกรรมบ่อยครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ บางครั้งสามารถทำให้กลุ่มชนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นทะลวงฟันอริศัตรูได้อย่างอาจหาญไม่กลัวความตาย
บรรดาอิมามกล่าวถึงบทกวีที่มีเนื้อหาสาระบ่อยครั้ง อีกทั้งยังเคยขอดุอาหรือตบรางวัลมูลค่าสูงแก่เหล่านักกวี แต่หากจะนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ให้ครบก็คงจะทำให้บทความเย่นเย้อโดยไช่เหตุ
บางคนอาจจะคิดว่าอิสลามมีอคติต่อกาพย์โคลงกลอนและนักกวี ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดจากการตีความโองการ وَ الشُّعَراءُ یَتَّبِعُهُمُ الْغاوُون [1]ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด ทั้งนี้เนื่องจากโองการข้างต้นมิได้มีจุดประสงค์ที่จะตำหนิทโคลงกลอนทุกประเภทในเชิงเหมารวม แต่ต้องการจะตำหนิโคลงกลอนบางประเภทเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองที่อุละมาของเรามักจะนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับกาพย์โคลงกลอน อาทิเช่นกรณีของตัฟซี้รเนมูเนะฮ์ต่อไปนี้
กวีนิพนธ์ในทัศนะอิสลาม
ไม่เป็นที่สงสัยว่าพรสวรรค์ด้านกวีนิพนธ์ก็เปรียบเสมือนความสามารถด้านอื่นๆของมนุษย์ที่จะมีคุณค่าต่อเมื่อนำไปใช้ในทางที่ดี แต่หากนำไปใช้บ่อนทำลายจริยธรรมในสังคม อันจะสร้างความเสื่อมทราม นำพาสู่ความไร้แก่นสารและจินตนาการอันเลื่อนลอย หรือหากใช้เป็นเครื่องบันเทิงที่ไร้สาระ บทกวีเหล่านี้ก็จะถือว่าไร้คุณค่าและมีอันตรายทันที
จากเนื้อหาข้างต้นทำให้ทราบข้อสรุปที่ว่าโองการข้างต้นสอนว่าการเป็นนักกวีเป็นเรื่องดีหรือเสื่อมเสียกันแน่? อิสลามยอมรับกวีนิพนธ์หรือไม่?
มาตรฐานของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ที่ เป้าหมาย จุดประสงค์ และผลลัพธ์ ท่านอิมามอลีเคยปรารภแก่กลุ่มสหายของท่านยามที่กำลังพูดคุยเกี่ยวกับกวีนิพนธ์ขณะกำลังละศีลอดในเดือนรอมฎอนว่า
اعلموا ان ملاک امرکم الدین، و عصمتکم التقوى، و زینتکم الادب، و حصون اعراضکم الحلم
“จงรู้ไว้ว่า ศาสนาคือมาตรฐานภารกิจของพวกท่าน ตักวาคือเกราะป้องกันของพวกท่าน มารยาทคือเครื่องประดับของพวกท่าน และความอดทนคือป้อมปราการของพวกท่านที่ตั้งตระหง่าน”[2]
สรุปคือ บทกลอนเปรียบเสมือนเครื่องมือ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากเป้าประสงค์ที่สร้างแรงจูงใจแก่กวีนิพนธ์
เป็นที่น่าเสียดายที่บทกวีถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดในหลายยุคหลายสมัย พรสวรรค์จากอัลลอฮ์ประเภทนี้ถูกสังคมที่ฟอนเฟะแปรสภาพเป็นเครื่องมือทำลายจริยธรรมในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคญาฮิลียะฮ์อันเป็นยุคแห่งความถดถอยทางความคิดของชนชาติอรับนั้น “บทกวี” “สุราเมรัย” และ “การปล้นสดมภ์”เป็นเรื่องที่ควบคู่กันเสมอมา แต่ก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่าบทกวีที่มีเนื้อหาสูงส่งสามารถสร้างวีรกรรมบ่อยครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ บางครั้งสามารถทำให้กลุ่มชนที่ถูกกดขี่ลุกขึ้นทะลวงฟันอริศัตรูได้อย่างอาจหาญไม่กลัวความตาย
สมัยที่การปฏิวัติอิสลามในอิหร่านร้อนแรงถึงขีดสุดนั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าบทกวีหรือคำขวัญที่มีสัมผัสสละสลวยสามารถปลุกเร้าความรู้สึกของประชาชนได้ถึงเพียงใด สามารถปลุกระดมสู่อุดมการณ์ได้เพียงใด ช่วยสร้างเอกภาพในหมู่นักปฏิวัติถึงเพียงใด
ในยุคนั้น กลอนบทง่ายๆมีอานุภาพพอที่จะเขย่าบัลลังก์ และทำให้เหล่าศัตรูพากันอกสั่นขวัญแขวน
ไม่มีใครปฏิเสธว่าบางครั้งบทกวีเชิงธรรมะสามารถหยั่งรากลึกในหัวใจผู้ฟังได้ดีกว่าตำรับตำราเล่มหนาๆเสียอีก
เป็นดังที่ท่านนบี(ซ.ล.)เคยกล่าวไว้ว่า “ان من الشعر لحکمة، و ان من البیان لسحرا” บทกวีบางบทแฝงไว้ด้วยวิทยปัญญา และบางพจนารถมีอานุภาพดั่งมนตรา”[3]
บางครั้งบทกวีสามารถทิ่มแทงความรู้สึกของศัตรูได้ ดังที่มีฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)ระบุไว้เกี่ยวกับบทกวีประเภทนี้ว่า
و الذى نفس محمد بیده فکانما تنضهونهم بالنیل!
ขอสาบานต่อพระผู้ทรงกุมชะตากรรมของมุฮัมมัด(ซ.ล.) บทกวีเหล่านี้ประหนึ่งว่าพวกท่านกำลังยิงธนูใส่พวกเขา[4]
ท่านกล่าวฮะดีษบทนี้เมื่อครั้งที่ฝ่ายศัตรูพยายามร่ายบทกลอนเพื่อข่มขวัญฝ่ายมุสลิม ท่านนบี(ซ.ล.)จึงมีดำริให้มุสลิมแต่งบทกวีเพื่อตอบโต้ศัตรู
ท่านยังกล่าวแก่นักกวีท่านหนึ่งว่า “จงร่ายกวีประณามพวกเขา แท้จริงญิบเราะอีลอยู่กับท่าน”[5]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่กะอบ์ บิน มาลิก นักกวีผู้ศรัทธาที่มักแต่งบทกลอนส่งเสริมอิสลามได้เอ่ยถามท่านนบี(ซ.ล.)ว่า โอ้ท่านนบี กระผมจะวางตัวเช่นไรเมื่อมีบางโองการประทานลงมาเพื่อตำหนิโคลงกลอน ท่านตอบว่า
ان المؤمن یجاهد بنفسه و سیفه و لسانه “ผู้ศรัทธาจะต่อสู้ในหนทางของพระองค์ด้วยชีพ ดาบ และลิ้น”[6]
บรรดาอิมามเองก็กล่าวยกย่องบทกวีและนักกวีผู้มีเป้าหมาย อีกทั้งยังเคยขอพรและมอบรางวัลมูลค่ามากมาย ซึ่งหากจะกล่าวทั้งหมดในที่นี้ก็คงจะเยิ่นเย้อ
แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่พฤติกรรมของคนบางกลุ่มเป็นเหตุให้ศิลปะที่ยิ่งใหญ่และงดงามแขนงนี้ตกต่ำ ทำลายความสูงส่งของบทกวีให้เหลือเพียงสารัตถะแห่งวัตถุด้วยการโกหกยกเมฆจนทำให้มีการกล่าวกันว่า “احسنه اکذبه” กลอนที่โป้ปดที่สุดคือกลอนที่สละสลวยที่สุด”
บ่อยครั้งที่บทกวีถูกนำไปใช้โอ้โลมปฏิโลมผู้มีอำนาจเพื่อหวังจะได้รับการปูนบำเหน็จเพียงเล็กน้อย และบ่อยครั้งที่มีการร่ายบทกวีพรรณาถึงสุราเมรัยและอิสตรีอย่างสุดโต่ง
หลายครั้งที่บทกวีกลายเป็นชนวนแห่งสงครามและความขัดแย้ง ส่งผลให้เกิดการหลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์มากมาย
แต่ในทางตรงกันข้าม มีนักกวีที่เปี่ยมด้วยศรัทธาไม่น้อยที่ไม่ยอมก้มหัวให้แก่อามิจสินจ้าง แต่เลือกที่จะใช้พรสวรรค์ดังกล่าวเพื่อพัฒนาศีลธรรมจรรยาของมนุษย์ และใช้ในการต่อสู้กับผู้อธรรมอันทำให้สามารถบรรลุถึงเกียรติยศอันสมบูรณ์
บางรายได้ประพันธ์บทกวีเพื่อปกป้องสัจธรรมโดยสามารถแลกกลอนแต่ละบาทกับบ้านในสรวงสวรรค์[7] นักกวีบางคนสามารถขจัดบรรยากาศที่คละคลุ้งไปด้วยการกดขี่ในยุคแห่งอุมัยยาดและอับบาซิดด้วยการประพันธ์บทกวีเช่นบท “มะดาริส อาย้าต” ประหนึ่งว่าได้รับการดลใจจากเบื้องบนกระนั้น
บางครั้งบทกวีสามารถแปรความหวาดกลัวของผู้ถูกกดขี่ให้กลายเป็นความฮึกเหิมกล้าหาญได้อย่างน่าอัศจรรย์
กุรอานกล่าวถึงบุคคลเหล่านี้ไว้ว่า إِلَّا الَّذِینَ آمَنُوا وَ عَمِلُوا الصَّالِحاتِ وَ ذَکَرُوا اللَّهَ کَثِیراً وَ انْتَصَرُوا مِنْ بَعْدِ ما ظُلِمُوا.
ที่น่าสนใจก็คือว่า บางครั้งศิลปินนักกวีได้รังสรรค์ผลงานไว้ดีเยี่ยมถึงขั้นที่ผู้นำทางศาสนาอิสลามพยายามรณรงค์ให้ผู้คนท่องจำบทกวีของพวกเขา อาทิเช่นกรณีบทกวีของ “อับดี” ที่ท่านอิมามศอดิก(อ.)เคยกล่าวว่า یا معشر الشیعة علموا اولادکم شعر العبدى، فانه على دین اللَّه “จงสอนบทกวีของอับดีแก่ลูกหลานเถิด เพราะเขาอยู่ในหนทางของพระองค์”[8]
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอส่งท้ายด้วยบทกวีของอับดีที่เกี่ยวกับตำแหน่งของตัวแทนของท่านนบี(ซ.ล.)ดังต่อไปนี้
و قالوا رسول اللَّه ما اختار بعده اماما و لکنا لأنفسنا اخترنا!
اقمنا اماما ان اقام على الهدى اطعنا، و ان ضل الهدایة قومنا!
فقلنا اذا انتم امام امامکم بحمد من الرحمن تهتم و لا تهمنا
و لکننا اخترنا الذى اختار ربنا لنا یوم خم ما اعتدینا و لا حلنا!
و نحن على نور من اللَّه واضح فیا رب زدنا منک نورا و ثبتنا!
“พวกเขากล่าวว่าท่านนบี(ซ.ล.)มิได้เลือกผู้ใดเป็นผู้นำภายหลังจากท่าน แต่เราคือผู้คัดสรรเอง
เราเลือกอิมามที่ถ้าหากนำสู่ทางที่ถูกต้องจึงจะปฏิบัติตาม แต่หากนำสู่ความผิดพลาด เราจะดัดนิสัยเขา
หากเป็นเช่นนี้ พวกท่านก็คืออิมามของตัวเอง พวกท่านนั่นแหล่ะที่อยู่ในวังวน มิไช่เรา
แต่เรายึดมั่นในผู้นำที่ได้รับการคัดเลือกในวันเฆาะดี้รคุม และจะยืนหยัดอย่างไม่ผันแปร
เรายึดถือรัศมีอันเจิดจรัสแห่งพระผู้เป็นเจ้า ขอพระองค์ทรงเพิ่มพูนรัศมีแก่เรา และช่วยให้เรายืนหยัดอย่างมั่นคง[9] [10]
ชะฮีด มุฮัมมัด ศอดิก ศ็อดร์ ได้นำเสนอรายละเอียดที่น่าสนใจเกี่ยวกับบทกวีและกวีนิพนธ์ในมุมมองของฟิกเกาะฮ์ ซึ่งหากผู้ใดสนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมได้[11]
อมีนุลอิสลาม เชค เฏาะบัรซี ได้รายงานฮะดีษจากอิมามริฎอไว้ในหนังสือ “อัลอาดาบุดดีนียะฮ์ ลิลเคาะซานะติล มุอีนียะฮ์” โดยกล่าวภายหลังว่า บทสรุปที่ได้จากรายงานต่างๆที่กล่าวไปแล้วก็คือ การขับบทกลอนในช่วงเวลาหรือสถานที่อันมีเกียรติถือเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง(มักรูฮ์)[12] ส่วนฮะดีษที่มีเนื้อหาประณามอย่างเผ็ดร้อนก็ให้ถือว่าเป็นการตะกียะฮ์
สุดท้ายนี้ขอรายงานฮะดีษจากท่านอิมามศอดิก(อ.)ที่ว่า “ไม่มีผู้ใดแต่งบทกวีเกี่ยวกับเราโดยมิได้รับการดลใจจากวิญญาอันบริสุทธิ์”[13]
[1] ซูเราะฮ์ อัชชุอะรอ,224 “และเหล่าผู้หลงทางจะคล้อยตามนักกวี”
[2] อิบนิ อบิลฮะดี้ด, ชัรฮ์นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,เล่ม 20,หน้า 461
[3] ฮะดีษข้างต้นได้รับการรายงานทั้งในสายชีอะฮ์และซุนหนี่ (อ่านในหนังสือ อัลเฆาะดี้ร,เล่ม 2,หน้า 9)
[4] มุสนัด อะห์มัด,เล่ม 3,หน้า 460
[5] เพิ่งอ้าง,เล่ม 4,หน้า 299
[6] ตัฟซี้รกุรฏุบี,เล่ม 7,หน้า 469
[7] รายงานจากอิมามศอดิก(อ.)ว่า من قال فینا بیت شعر بنى اللَّه له بیتا فى الجنة ผู้ใดที่ประพันธ์บทกวีเกี่ยวกับเรา อัลลอฮ์จทรงสร้างบ้านในสรวงสวรรค์สำหรับเขา (อัลเฆาะดี้ร,เล่ม 2,หน้า 3)
[8] นูรุษษะเกาะลัยน์, เล่ม 4,หน้า 71
[9] กุมี,อับบาส,อัลกุนา วัลอัลก้อบ,เล่ม 2,หน้า 455
[10] มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 15,หน้า 382-386
[11] ดู: มาวะรออุลฟิกฮ์,เล่ม 10,หน้า 93
[12] บะฮ์รอนี,ยูซุฟ บิน อะห์มัด บิน อิบรอฮีม, อัลฮะกออิกุน นาฎิเราะฮ์ ฟี อะห์กามิล อิตเราะติฏ ฏอฮิเราะฮ์, เล่ม 13,หน้า 164,สำนักพิมพ์อิสลามี ญามิอะฮ์ มุดัรริซีน,พิมพ์ครั้งแรก,กุม,ฮ.ศ.1405
[13] เชคเศาะดู้ก,อุยูน อัคบาริร ริฎอ(อ.),เล่ม 1,หน้า 7,สำนักพิมพ์ญะฮอน,พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1378