Please Wait
7107
ก่อนอื่นต้องคำนึงเสมอว่า เราไม่สามารถล่วงรู้ถึงสภาวะของปรโลกและสวรรค์-นรกได้นอกจากจะศึกษาจากวะฮยู (กุรอาน)และคำบอกเล่าของเหล่าผู้นำศาสนาที่ได้รับการยืนยันความน่าเชื่อถือเสียก่อน.
แม้ตำราทางศาสนาจะไม่ได้ระบุคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามดังกล่าว แต่จากการพิจารณาถึงข้อคิดที่ระบุไว้ในตำราทางศาสนาก็สามารถกล่าวได้ว่า ในสวรรค์ไม่มีบทบัญญัติและกฏเกณฑ์จำเพาะใดๆอีกต่อไป หรือหากมีก็ย่อมแตกต่างจากข้อบังคับต่างๆในโลกนี้ ทั้งนี้ก็เพราะการบังคับใช้บทบัญญัติของพระเจ้าในสังคมมนุษย์มีไว้เพื่อสร้างเสริมให้มนุษย์บรรลุถึงความเจริญและความสมบูรณ์สูงสุด ซึ่งก็เป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาในโลกนี้นั่นเอง ลำดับขั้นในสวรรค์ที่มนุษย์จะได้รับขึ้นอยู่กับกรรมดีของเขาที่ได้บำเพ็ญไว้ก่อนเสียชีวิต หรือไม่ก็จากอานิสงค์ของการอุทิศผลบุญโดยบุตรที่ประเสริฐหรือญาติมิตรที่เป็นมุอ์มินหลังจากเขาเสียชีวิต กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สวรรค์และนรกคือรูปจำแลงของการกระทำของเราในโลกนี้. ดังที่มีฮะดีษมากมายที่มีเนื้อหาตรงกันว่า วันนี้(ช่วงชีวิตในโลกนี้)เป็นวันแห่งการกระทำ โดยปราศจากการพิพากษา แต่พรุ่งนี้(โลกหน้า)คือวันแห่งการพิพากษา และไม่เหลือเวลาสำหรับการกระทำ[1] จากแนวคิดนี้ ย่อมไม่มีข้อบังคับใดๆในโลกหน้าที่จะนำสู่กระบวนการพิพากษาอีกทอดหนึ่ง และไม่มีการกระทำใดอันจะเป็นรูปจำแลงที่จะปรากฏในภายหลังอีกต่อไป.
นอกจากนี้ บทบัญญัติและกฏหมายมักจะบังคับใช้ในสังคมที่มี/หรือสันนิษฐานว่าจะมีการก้าวล่วงสิทธิส่วนบุคคลของคนในสังคม เหตุดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นในสวรรค์เนื่องจาก:
1. ไม่มีเหตุจูงใจให้ละเมิดสิทธิผู้อื่น. การละเมิดมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่ความต้องการอุปโภคบริโภคมีมากกว่าทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ในขณะที่สวรรค์ไม่มีข้อจำกัดดังกล่าว ดังที่กุรอานระบุว่าทุกสิ่งที่ชาวสวรรค์ประสงค์จะเป็นของเขา[2]
2. อีกมูลเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องบังคับใช้กฏหมายก็คือ การที่คนเรามักจะถูกชัยฏอนมารร้ายและกิเลสตัณหาครอบงำ เป็นเหตุชักจูงให้เกลือกกลั้วพฤติกรรมด่างพร้อยและกดขี่ข่มเหงผู้อื่น. แน่นอนว่าสภาพจิตใจเช่นนี้ไม่มีในสวรรค์ เนื่องจากผู้ที่ได้รับสิทธิให้เข้าสวรรค์ล้วนเป็นผู้มีใจบริสุทธิผ่องแผ้ว และประสบความสำเร็จในการควบคุมกิเลสมาแล้วในโลกดุนยา. กุรอานได้กล่าวว่า: “และเราได้ถอดความบาดหมางในจิตใจพวกเขา เพื่อให้พวกเขาเป็นพี่น้องกัน...”[3] นอกจากนี้ การสนทนาของชาวสวรรค์ก็เปี่ยมด้วยไมตรีจิตและการสานสันติ[4] ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าในสวรรค์ไม่มีมูลเหตุของความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิอันจะนำพาสู่การทะเลาะเบาะแว้งกัน ด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีการบังคับใช้กฏหมายใดๆ นอกจากนี้ จากโองการกุรอานทำให้ทราบว่าชาวสวรรค์จะไม่ปรารถนาในสิ่งที่ต่ำทรามเด็ดขาด เนื่องจากพวกเขาบรรลุถึงความสวยงามและขีดสุดของจิตวิญญาณแล้ว กล่าวคือพวกเขาชื่นชอบสิ่งที่ดีงาม[5] และจะไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากสิ่งที่พระองค์ประสงค์เท่านั้น[6] จึงไม่จำเป็นต้องตรากฏหมายและบทบัญญัติใดๆ.
นักอรรถาธิบายกุรอานบางท่านกล่าวถึงโองการ “จะมีจานทองคำและแก้วน้าเวียนรอบๆพวกเขา และในสวรรค์มีทุกสิ่งที่จิตปรารถนา”[7] โดยได้ตั้งข้อสังเกตุไว้อย่างน่าสนใจว่า โองการดังกล่าวครอบคลุมถึงความปรารถนาอันเป็นฮะรอมหรือไม่? หากชาวสวรรค์ปรารถนาสิ่งต้องห้าม พวกเขาจะได้รับการสนองหรือไม่? คำตอบคือ จินตนาการดังกล่าวเกิดจากการมองข้ามประเด็นที่ว่า การกระทำอันเป็นฮะรอมทั้งปวงเปรียบเสมือนอาหารที่เน่าเสียสำหรับจิตวิญญาณ แน่นอนว่าจิตวิญญาณที่ปกติสุขย่อมไม่ชำเลืองอาหารประเภทนี้ จิตวิญญาณป่วยไข้ต่างหากที่อุตริอยากบริโภคอาหารเน่าเสีย ดังที่คนไข้บางคนอุตริอยากกินแม้กระทั่งอิฐหินดินทราย แต่หลังจากหายไข้แล้วทุกอย่างก็จะคืนสู่สภาวะปกติ. ชาวสวรรค์ก็เช่นกัน ย่อมไม่อยากแม้จะชำเลืองอาหารสกปรก นั่นเป็นเพราะจิตวิญญาณของพวกเขาถวิลหาเพียงแค่ความดีและความบริสุทธิสะอาดเท่านั้น.[8]
[1] อัลกาฟี, เล่ม 8, หน้า 58, อมีรุลมุอ์มินีน (อ.): “...فَإِنَّ الْیَوْمَ عَمَلٌ وَ لَا حِسَابَ وَ إِنَّ غَداً حِسَابٌ وَ لَا عَمَلَ“.
[2] ดู: ซูเราะฮ์ อัซซุครุฟ, 71.
[3] อัลฮิญร์, 26
[4] ดู: ซูเราะฮ์ อัลวากิอะฮ์, 26
[5] คำแปลตัฟซีรอัลมีซาน, เล่ม 29, หน้า 272 (ฉบับ 40 เล่ม)
[6] อ้างแล้ว, เล่ม 34, หน้า 154.
[7] อัซซุครุฟ, 71.
[8] ดู: ตัฟซีร เนมูเนะฮ์, เล่ม 21 หน้า 116.