Please Wait
10249
อัมร์ บิน อ้าศ บิน วาอิ้ล อัสสะฮ์มี โฉมหน้านักฉวยโอกาสที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ถือกำเนิดจากหญิงที่ชื่อ“นาบิเฆาะฮ์” บิดาของเขาคืออ้าศ บิน วาอิ้ล เป็นมุชริกที่เคยถากถางเยาะเย้ยท่านนบีด้วยคำว่า“อับตัร”หลังจากกอซิมบุตรของท่านนบีถึงแก่กรรมในวัยแบเบาะ ซึ่งหลังจากนั้น อัลลอฮ์ได้ประทานอายะฮ์ “ان شانئک هو الابتر” เพื่อโต้คำถากถางของอ้าศ
อัมร์ บิน อ้าศ เป็นที่รู้จักในเรื่องความเจ้าเล่ห์ ในสมัยที่อิมามอลี(อ.)ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ เขากลายเป็นมือขวาของมุอาวิยะฮ์ในสงครามศิฟฟีนเพื่อต่อต้านท่าน และสามารถล่อลวงทหารฝ่ายอิมามเป็นจำนวนมาก ท้ายที่สุดก็ใช้เล่ห์กลหลอกอบูมูซา อัลอัชอะรี เพื่อเอื้อผลประโยชน์แก่มุอาวิยาะฮ์ ท้ายที่สุดได้รับแต่งตั้งโดยมุอาวิยะฮ์ให้เป็นผู้ปกครองเมืองอิยิปต์ และเสียชีวิตในปีฮศ.43 รวมอายุได้ 90 ปี
อัมร์ บิน อ้าศ บิน วาอิ้ล อัสสะฮ์มี โฉมหน้านักฉวยโอกาสที่แฝงด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ถือกำเนิดจากหญิงที่ชื่อ“นาบิเฆาะฮ์” แต่เนื่องจากหญิงแพศยานางนี้หลับนอนกับชายถึงห้าคน(อบูละฮับ, อุมัยยะฮ์, ฮิชาม บิน มุฆ็อยเราะฮ, อบูซุฟยาน, อ้าศ บิน วาอิ้ล) จึงทำให้ทั้งห้าต่างอ้างสิทธิความเป็นพ่อพร้อมกัน ทั้งๆที่อัมร์มีความคล้ายคลึงกับอบูซุฟยานมากกว่า ทว่านาบิเฆาะฮ์ได้เลือกให้อ้าศเป็นพ่อของอัมร์ โดยเหตุผลที่ว่า“เพราะอ้าศช่วยเหลือฉันมากกว่า”[1] อ้าศจึงได้เป็นพ่อของอัมร์นับแต่นั้นมา
หลังจากที่ท่านนบี(ซ.ล.)สูญเสียบุตรชายวัยแบเบาะนามกอซิม อ้าศ บิน วาอิ้ลคนนี้เคยเหน็บแนมถากถางท่านนบี(ซ.ล.) ด้วยสำนวนเสียดสีที่กักขฬะที่สุด นั่นก็คือคำว่าอับตัร(หางด้วน) เนื่องจากท่านไม่มีบุตรชายไว้สืบสกุล ภายหลังเหตุการณ์นี้ อัลลอฮ์ทรงโต้ตอบด้วยการประทานซูเราะฮ์อัลเกาษัร โดยท้ายซูเราะฮ์มีการตอบคำสบประมาทของอ้าศด้วย [2]
อัมร์ บิน อ้าศ ในสมัยท่านนบี(ซ.ล.)
เขามีลักษณะนิสัยที่น่ารังเกียจและมีบุคลิกภาพที่ต่ำทราม เขาเคยแต่งกลอนเย้ยนบีถึงเจ็ดสิบวรรค ซึ่งเด็กๆชาวมักกะฮ์ได้นำไปท่องเสียงดังและสร้างความรำคาญใจแก่ท่านนบี(ซ.ล.)อย่างยิ่ง กระทั่งท่านนบีดุอาว่า “โอ้อัลลอฮ์ อัมร์ได้ถากถางเยาะเย้ยข้าพระองค์ แต่ข้าฯหาไช่นักกวีไม่ และการร่ายโคลงกลอนก็ไม่เหมาะกับข้าฯจึงไม่อาจจะโต้ตอบเขาได้ ขอพระองค์ทรงสาปแช่งพันหนต่อหนึ่งอักษรในกลอนของเขา”[3]
เขาคือตัวแทนที่แกนนำกุเรชส่งไปเพื่อเจรจาให้กษัตริย์นะญาชีส่งตัวกลุ่มมุสลิมที่หนีการกดขี่ของชาวมักกะฮ์ แต่อัมร์ บิน อ้าศก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากกษัตริย์ไม่ยินยอมตามคำขอ[4]
กระทั่งในปีฮ.ศ.7 อัมร์ บิน อ้าศ ได้รับอิสลามโดยมีเงื่อนไขว่าเขาไม่ต้องชำระหนี้สิน[5]
จากรายงานของตำราประวัติศาสตร์บางเล่มระบุว่า เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงคราม“ซาตุสสะลาซิ้ล”[6] และหลังจากนั้นก็ได้รับมอบหมายให้เก็บภาษีซะกาตจากชาวแคว้นโอมาน[7]
อัมร์ บิน อ้าศ ในสมัยท่านอบูบักร์, อุมัร, อุษมาน
เขามีความใกล้ชิดเคาะลีฟะฮ์อบูบักร์และอุมัรเป็นพิเศษ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคนสำคัญในยุทธการพิชิตแคว้นชาม(ซีเรีย,เลบานอน,ปาเลสไตน์ปัจจุบัน) ในสมัยท่านอุมัรได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ปกครองปาเลสไตน์ หลังจากนั้นได้รับมอบหมายให้ยาตราทัพเข้าพิชิตอิยิปต์ หลังจากพิชิตอิยิปต์สำเร็จก็ได้ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองอิยิปต์จนกระทั่งท่านอุมัรถึงแก่กรรม แต่ท่านอุษมานได้ปลดเขา ทำให้ต้องกลับมาพำนักที่ปาเลสไตน์ และเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านท่านอุษมาน ตลอดจนปลีกตัวจากนครมะดีนะฮ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา[8]
อัมร์ บิน อ้าศ ในยุคเคาะลีฟะฮ์อลี(อ.)
หลังจากที่ท่านอุษมานถูกสังหารและท่านอิมามอลี(อ.)ได้รับการสนับสนุนจากมวลชนให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ ท่านได้ปลดมุอาวิยะฮ์ลงจากตำแหน่งผู้ปกครองแคว้นชาม เมื่อมุอาวิยะฮ์เห็นว่าตนจะสูญเสียลาภยศ จึงกล่าวหาว่าท่านอิมามอลี(อ.)อยู่เบื้องหลังเหตุสังหารอุษมาน พร้อมกับอ้างตัวเป็นญาติที่ต้องการล้างแค้นให้กับท่านอุษมานด้วยการกระด้างกระเดื่องต่อเคาะลีฟะฮ์อลี(อ.) มุอาวิยะฮ์ได้เขียนจดหมายส่งถึงอัมร์ บิน อ้าศเพื่อขอความช่วยเหลือในการนี้
อัมร์ ตอบจดหมายว่า“ฉันได้อ่านจดหมายของเจ้าแล้ว และเข้าใจดีทุกอย่าง แต่การที่เจ้าประสงค์จะให้ข้าเชิดหนีจากอิสลาม และพลัดตกสู่ก้นเหวแห่งความหลงผิดด้วยการช่วยเหลือเจ้าในการจับดาบสู้กับอมีรุ้ลมุอ์มินีน ขณะที่ท่านอลีมีฐานะเป็นน้องชาย ตัวแทน และผู้สืบทอดของท่านนบี(ซ.ล.) และท่านเคยเป็นผู้ชำระหนี้สินของท่านนบี(หลังจากนบีฮิจเราะฮ์) และปฏิบัติตามคำสั่งของท่าน ท่านคือเขยของท่านนบี(ซ.ล.)และเป็นสามีของนายหญิงแห่งอิสตรีทั้งผอง เป็นบิดาของฮะซันและฮุซัยน์ สองผู้นำของหนุ่มๆชาวสวรรค์ ข้าไม่อาจจะตอบรับคำขอของเจ้าได้หรอก ส่วนที่เจ้าเขียนว่าเจ้าเป็นญาติผู้ทวงหนี้เลือดอุษมาน จงรู้เถิดว่าเจ้าถูกปลดนับตั้งแต่อุษมานเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากอุษมานหมดวาระเคาะลีฟะฮ์ เจ้าไม่รู้หรืออย่างไรว่า อลี(อ.)เคยเสียสละชีวิตในหนทางของพระองค์ด้วยการนอนแทนที่ท่านนบี(ซ.ล.) และท่านนบี(ซ.ล.)เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดที่ฉันเป็นนายของเขา อลีก็เป็นนายของเขาเช่นกัน”[9]
อย่างไรก็ดี เมื่อมุอาวิยะฮ์สัญญาว่าจะมอบตำแหน่งผู้ปกครองอิยิปต์แก่อัมร์ เขาจึงยอมสวามิภักดิ์และช่วยเหลือมุอาวิยะฮ์อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงชาวแคว้นชามให้ลุกฮือขึ้นเพื่อแก้แค้นให้เคาะลีฟะฮ์อุษมานในสงครามศิฟฟีน โดยได้บริหารกิจการสงครามด้วยเล่ห์เพทุบายนานาชนิด อย่างไรก็ดี ด้วยกับความกล้าหาญของอิมามอลี(อ.)รวมทั้งเหล่าสหาย ทำให้กองทัพมุอาวิยะฮ์และอัมร์เพลี้ยงพล้ำจนเกือบจะปราชัย แต่ด้วยกับเล่ห์กลของอัมร์ที่ใช้วีธีเสียบกุรอานบนปลายหอก ทำให้อิมามอลี(อ.)ถูกกองทัพของตนกดดันจนต้องยอมให้อบูมูซาอัชอะรีเป็นอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ อัมร์ยังได้ใช้กลลวงหลอกอบูมูซาให้ยอมปลดอิมามอลี(อ.)แล้วตนจึงฉวยโอกาสตั้งมุอาวิยะฮ์เป็นเคาะลีฟะฮ์ ส่งผลให้อิมามอลี(อ.)จำต้องทำสงครามกับพวกค่อวาริจ
หลังจากนั้น อัมร์จึงมุ่งหน้าสู่อิยิปต์ตามที่มุอาวิยะฮ์ให้สัญญาไว้ ขณะนั้นมุฮัมมัด บิน อบีบักร์เป็นผู้ปกครองอิยิปต์ อิมามอลี(อ.)ทราบเช่นนั้นจึงมีคำสั่งเปลี่ยนให้มาลิก อัชตัรเป็นผู้ปกครองอิยิปต์แทน แต่อัมร์และมุอาวิยะฮ์จัดการวางยามาลิกเสียชีวิตระหว่างทาง จากนั้นได้สังหารมุฮัมมัด บิน อบีบักร์อย่างน่าอนาถ แล้วจึงฉวยโอกาสขึ้นปกครองอิยิปต์แทน[10]
เขารั้งตำแหน่งดังกล่าวจนกระทั่งถูกมุอาวิยะฮ์ขู่ว่าจะปลดจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ยอมจ่ายส่วย อัมร์เขียนจดหมายถึงมุอาวิยะฮ์โดยได้เขียนบทกลอนที่เรียกว่า ญิลญิลียะฮ์ อันเป็นการสารภาพถึงคุณงามความดีของท่านอิมามอลี(อ.) พร้อมกับขู่มุอาวิยะฮ์ว่าจะก่อจลาจลในแคว้นต่างๆ จึงทำให้สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนเสียชีวิตในปีฮ.ศ.43[11] ขณะมีอายุได้ 90 ปี[12]
[1] ชะเราะฮ์ อิบนิ อบิลฮะดี้ด,เล่ม 6,หน้า 282 และ อ้างแล้ว,เล่ม 2,หน้า 100,101.
[2] มัจมะอุ้ลบะยาน(พิมพ์สิบเล่มเบรุต)เล่ม 10,หน้า 461.
[3] สะฟีนะตุ้ลบิฮ้าร(สี่เล่มมัชฮัด)เล่ม 4,หน้า 659.
[4] ดะลาอิลุ้นนุบูวะฮ์ฉบับแปล,เล่ม 2,หน้า 51, และ อุสดุ้ลฆอบะฮ์,เล่ม 3,หน้า
42.
[5] ตารีคฏอบะรี,เล่ม 5,หน้า 1495,1525, และ อุสดุ้ลฆอบะฮ์,เล่ม 3,หน้า 742.
[6] อัลมะฆอซี,เล่ม 2,หน้า 77
[7] อุสดุ้ลฆอบะฮ์,เล่ม 3,หน้า 742.
[8] อ้างแล้ว,เล่ม 4,หน้า 244 และ ฏอบะกอตุ้ลกุบรอ,เล่ม 4,หน้า 256 และ กอมูสุรริญ้าล,เล่ม 8,หน้า 11
[9] ตัซกิเราะตุ้ลค่อวาศ,หน้า 84.
[10] ทอรีคบัรโกซีเดะฮ์,หน้า 197.
[11] ตารีคอิสลาม,เล่ม 4,หน้า 90 มุรูญุซซะฮับ,เล่ม 3,หน้า 23.
[12] มุรูญุซซะฮับ,เล่ม 3,หน้า 23.