Please Wait
6906
หนังสืออ้างอิงทางประวัติศาสตร์ของชาวอะฮ์ลิสซุนนะฮ์กล่าวถึงท่านบิล้าลผู้เป็นอัครสาวกว่า ท่านได้รับการไถ่ตัวโดยท่านอบูบักร์ ท่านเป็นผู้ศรัทธาที่อดทนต่อการทรมานโดยกาเฟรมุชริกีน และเป็นนักอะซานประจำของท่านนบี(ซ.ล.) อีกทั้งยังเป็นนักต่อสู้เพื่ออิสลามในสมรภูมิต่างๆเคียงข้างท่านนบี(ซ.ล.) ทว่าหลังจากที่นบีละสังขาร ท่านก็จากเมืองมะดีนะฮ์มุ่งสู่แคว้นชาม และเสียชีวิต ณ ที่นั่น
ท่านบิล้าลเป็นบุตรของ ริบาฮ์ และฮุมามะฮ์[1] ท่านถูกนำตัวมาจากอบิสสิเนียสู่คาบสมุทรอรับในฐานะบ่าวทาส ต่อมาได้เป็นทาสรับใช้ของ“อุมัยยะฮ์” ซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งของเผ่ากุเรช
หลังจากอิสลามเริ่มทอแสง แม้อุมัยยะฮ์จะเป็นผู้ที่กระหายจะดับแสงแห่งอิสลามและเตาฮี้ดก็ตาม แต่ทาสของเขาเป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ารับอิสลามด้วยความปลื้มปีติ[2]ท่านบิล้าลถือเป็นมุสลิมผู้ยากไร้[3] ซึ่งเมื่อท่านรับอิสลามก็ถูกเหล่ามุชริกีนทรมานต่างๆนานาเพื่อหวังให้ท่านเปลี่ยนใจ กล่าวกันว่าท่านคือหนึ่งในเจ็ดมุสลิมผู้กล้าเผยตัวว่ารับอิสลาม ทั้งนี้ คนอื่นๆล้วนมีผู้อุปถัมภ์มิให้ถูกทรมาน หรือไม่ก็มีผู้เยียวยาหลังถูกทรมาน แต่ท่านบิล้าลคือผู้เดียวที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์ใดๆ[4] อุมัยยะฮ์ผู้เป็นนายจึงได้ทารุณกรรมท่านอย่างทมิฬหินชาติ แต่ท่านบิล้าลก็ยังมั่นคงในศรัทธาของตนเอง กล่าวกันว่าท่านอบูบักรได้จ่ายเงินไถ่ท่านให้เป็นไท ซึ่งรายงานของฝ่ายชีอะฮ์ก็ยอมรับเช่นนี้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียน“กอมูสุรริญ้าล”ตั้งข้อสังเกตุและอ้างจากหนังสือ“นักฎุ้ล อุษมานียะฮ์”เขียนโดยอิสกาฟีว่า ท่านบิล้าลได้รับการไถ่โดยท่านนบี(ซ.ล.) อาจเป็นไปได้ว่าเป็นไปตามคำสั่งของท่านนบี(ซ.ล.)[5]
เมื่อนครมะดีนะฮ์กลายเป็นศูนย์กลางรัฐอิสลามแล้ว ท่านบิล้าลก็ได้เป็นนักอะซานที่ท่านนบี(ซ.ล.)โปรดปราน ท่านยังได้เข้าร่วมในสมรภูมิต่างๆเคียงบ่าเคียงไหล่ท่านนบี(ซ.ล.)โดยตลอด[6]
รายงานทางประวัติศาสตร์ล้วนยืนยันถึงความกล้าหาญและศรัทธาอันแข็งแกร่งของท่านในยุคของท่านนบี(ซ.ล.) ทว่าภายหลังจากที่ท่านนบี(ซ.ล.)ละสังขารไป ท่านบิล้าลก็จากเมืองมะดีนะฮ์มุ่งสู่แคว้นชาม(ซีเรีย)
ชีวประวัติช่วงเดียวของท่านบิล้าลที่อาจถือเป็นข้อถกเถียงระหว่างชีอะฮ์และซุนหนี่ก็คือช่วงเวลานี้ เพราะเหตุใดท่านจึงเดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์?
ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮ์เชื่อว่า ท่านไม่ต้องการจะเป็นนักอะซานประจำของคนอื่นที่มิไช่ท่านนบี(ซ.ล.)[7]จากหลักฐานดังต่อไปนี้:
1.ฮะดีษจากบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ที่ว่า “บิล้าลคือบ่าวที่ประเสริฐของอัลลอฮ์ ท่านเคยกล่าวว่าจะไม่เป็นนักอะซานของผู้ใดหลังจากท่านนบี(ซ.ล.) ด้วยเหตุนี้ ประโยค “ฮัยยะอะลาค็อยริ้ลอะมั้ล”จึงถูกทิ้งให้หลงลืม[8]
2. รายงานฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ระบุชัดเจนว่าภายหลังจากท่านนบี(ซ.ล.) ท่านบิล้าลไม่ยอมอะซานตามคำขอของเหล่าเคาะลีฟะฮ์เลย อัลวากิดีรายงานว่า “ภายหลังท่านนบี(ซ.ล.)ละสังขาร ท่านบิล้าลก็ยังอะซานเป็นปกติตราบที่ยังมิได้ฝังร่างของท่านนบี(ซ.ล.) เมื่อถึงวรรค“อัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรรอซูลุลลอฮ์” ผู้คนต่างร่ำไห้ระงม แต่หลังจากที่ฝังร่างของท่านนบี(ซ.ล.)แล้ว ท่านอบูบักรได้ขอให้ท่านอะซานดังเดิม แต่ท่านบิล้าลกล่าวว่า “หากในอดีตท่านไถ่ตัวฉันเพื่อให้อยู่ใต้อาณัติของท่าน ก็แล้วแต่ท่านจะสั่งเถิด แต่หากไถ่เพื่ออัลลอฮ์ ก็ขอให้ฉันได้มีอิสระในหนทางของพระองค์” ท่านอบูบักรกล่าวว่า“ฉันไถ่ท่านเพื่ออัลลอฮ์” ท่านบิล้าลจึงกล่าวว่า “ฉันขอไม่อะซานให้ผู้ใดอีกหลังจากท่านนบี(ซ.ล.)” อบูบักรกล่าวว่า“ท่านมีอิสระ” หลังจากนั้นท่านไม่กี่วัน ท่านก็ได้เดินทางไปยังแคว้นชามพร้อมกับกองทัพมุสลิม และได้พำนักอยู่ที่นั่น [9]
อัสกอลานี ผู้เขียนหนังสือ“อัลอิศอบะฮ์”ก็ยืนยันตรงกันว่าท่านบิล้าลได้เดินทางไปแคว้นชามเพื่อการญิฮาด[10]
แต่ยังมีอีกทัศนะตามที่มีรายงานในตำราฝ่ายซุนหนี่ว่า หลังจากท่านนบี(ซ.ล.)ละสังขาร ท่านบิล้าลได้มาบอกท่านอบูบักรว่า “โอ้เคาะลีฟะฮ์ของนบี(ซ.ล.) ฉันได้ยินจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า กิจที่ประเสริฐสุดคือการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์” ท่านอบูบักรกล่าวว่า“ท่านต้องการจะทำอะไรหรือ?” ท่านบิล้าลตอบว่า “ฉันต้องการจะญิฮาดเพื่ออัลลอฮ์และพลีชีวิตในหนทางของพระองค์” อบูบักรกล่าวว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์และเกียรติของท่าน อย่าไปเลย ฉันชราภาพแล้วและคงอยู่ได้อีกไม่นาน” ท่านบิล้าลจึงอยู่กับท่านอบูบักรต่อ เมื่อท่านอบูบักรเสียชีวิต ท่านบิล้าลได้มาแจ้งความจำนงเดิมต่อท่านอุมัรอีก และท่านอุมัรก็กล่าวเช่นเดียวกันกับท่านอบูบักร แต่คราวนี้ท่านบิล้าลไม่คล้อยตาม[11]
ยังมีรายงานที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือนักกล่าวว่า เมื่อท่านอุมัรเดินทางสู่แคว้นชาม ท่านบิล้าลได้อะซานให้”[12]
อย่างไรก็ดี รายงานแรกมิได้หักล้างรายงานชุดที่ฝ่ายชีอะฮ์ยึดถือ เหตุเพราะมิได้ระบุว่าท่านบิล้าลอะซานตามคำขอของท่านอบูบักร ส่วนรายงานที่สองนั้น นอกจากจะมีปัญหาด้านสายรายงานแล้ว ยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าท่านบิล้าลรับเป็นนักอะซานประจำตัวสำหรับเคาะลีฟะฮ์ อย่างมากก็แค่พิสูจน์ว่าท่านได้อะซานเมื่อครั้งที่ท่านอุมัรพำนักอยู่
จึงกล่าวได้ว่า แหล่งอ้างอิงทั้งซุนหนี่และชีอะฮ์ยืนยันว่าท่านบิล้าลไม่ยอมเป็นนักอะซานของเหล่าเคาะลีฟะฮ์อย่างเป็นทางการ
นักประวัติศาสตร์ระบุว่า ท่านบิล้าลเสียชีวิตลงในสมัยการปกครองของท่านอุมัร หรือราวๆ 17-20 ฮ.ศ.[13]
[1] อัลอิสตีอ้าบ,เล่ม 1,หน้า 179.
[2] ประวัติศาสตร์รายงานว่าท่านรับอิสลามคนที่สี่หรือห้า. บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 18,หน้า 229.
[3] อ้างแล้ว,เล่ม 17,หน้า 41. , อัฏเฏาะบะกอตุ้ลกุบรอ,เล่ม 3, หน้า 175. , อันซาบุลอัชรอฟ,เล่ม 1,หน้า156.
[4] ดู: อ้างแล้ว.
[5] ปูชณียบุคคลมุสลิมชีอะฮ์,อ.ญะฟัร ซุบฮานี,เล่ม 1,2. , อัลอิสตีอ้าบ,เล่ม 1,หน้า 182. , อุสดุ้ลฆอบะฮ์,เล่ม 1,หน้า 243.
[6] อัลอะอ์ลาม,เล่ม 2,หน้า 73.
[7] อัลอิคติศ้อศ,หน้า 71.
[8] رَوَى أَبُو بَصِیرٍ عَنْ أَحَدِهِمَا ع أَنَّهُ قَالَ إِنَّ بِلَالًا کَانَ عَبْداً صَالِحاً فَقَالَ لَا أُؤَذِّنُ لِأَحَدٍ بَعْدَ رَسُولِ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَیْهِ وَ آلِهِ فَتُرِکَ یَوْمَئِذٍ حَیَّ عَلَى خَیْرِ الْعَمَل. มันลายะฮ์ฎุรุฮุ้ลฟะกี้ฮ์,เล่ม 1,หน้า 283.
[9] เฏาะบะกอตุ้ลกุบรอฉบับแปล,เล่ม 3, หน้า 202, เฏาะบะกอตุ้ลกุบรอ,เล่ม 2,หน้า 178. , อัลอิสตีอ้าบ,เล่ม 1,หน้า 82. , อุสดุ้ลฆอบะฮ์,เล่ม1,หน้า 243.
[10] อันซาบุลอัชรอฟ,เล่ม 1,หน้า 526. , อัลอิศอบะฮ์,เล่ม 1,หน้า 456.
[11] เหมือนเชิงอรรถที่เก้า
[12] อุสดุ้ลฆอบะฮ์,เล่ม 1,หน้า 244.
[13] อ้างแล้ว,เล่ม 1,หน้า 245, อันซาบุลอัชรอฟ,เล่ม 1,หน้า 526, , ดะลาอิลุนนุบูวะฮ์,เล่ม 1,หน้า 348, อัมตาอุ้ลอัสมาอ์,เล่ม 6,หน้า 350.