Please Wait
9983
เตาฮีด หมายถึงความเป็นเอกะหรือเอกเทศ, เตาฮีดคอลิกียะฮฺ หมายถึงจักรวาลและสรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีผู้ใดสร้างขึ้นมา นอกจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงพิสุทธิ์ยิ่ง, สรรพสิ่งที่มีอยู่, ร่องรอยและกิจการงานของพวกเขา, แม้แต่มนุษย์และผลงานสร้างสรรค์ทั้งหมดของเขา หรือสิ่งที่พวกเขาค้นพบ โดยความเป็นจริงแล้วและมิได้เป็นการกล่าวอย่างเลยเถิด ทั้งหมดเหล่านั้นคือ สิ่งถูกสร้างของอัลลอฮฺ ทั้งสิ้น ดังนั้น ทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกใบนี้คือ สิ่งถูกสร้างของพระองค์ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าบางสิ่งปราศจากสื่อและบางสิ่งมีสื่อในการสร้าง
ความหมายของเตาฮีดในการสร้าง เตาฮีดคอลิกียะฮฺ
การสร้างสรรค์คือ คุณลักษณะประการหนึ่งของอัลลอฮฺ, ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวถือเป็นเหตุผลที่พิสูจน์ให้เห็นถึง การมีอยู่ของพระเจ้า เนื่องจากสาระของเหตุผลดังกล่าว, ก็คืออัลลอฮฺ ทรงเป็นปฐมเหตุในการสร้างสรรค์ และเป็นสาเหตุของการมีอยู่ของสรรพสิ่งทั้งหมด, และสิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ อัลลอฮฺ ไม่ทรงมีหุ้นส่วนในการสร้างสรรค์ ไม่มีผู้ใดสร้างโลกและจักรวาลนอกจากพระองค์ ดังนั้น หนึ่งในสาขาสำคัญของเตาฮีดคือ เตาฮีดคอลิกียะฮฺนั่นเอง[1]
อีกนัยหนึ่ง : ความเป็นเอกเทศในการสร้างหมายถึง โลกแห่งการมีอยู่นี้ไม่มีผู้สร้างเกินหนึ่ง ผู้เป็นองค์ปฐมแห่งการสร้าง เป็นเอกเทศ การสร้างของสาเหตุอื่นอยู่ในแนวตั้งแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์ โดยได้รับบัญชาและการอนุญาตจากพระองค์[2]
ความเป็นเอกเทศในการสร้าง บางครั้งก็เรียกว่า เตาฮีดคอลิกียะฮฺ หรือเตาฮีดอัฟอาล ในนิยามของปรัชญาหมายถึง ระบบทั้งหมดที่มีอยู่ แบบฉบับ สาเหตุ ผลแห่งสาเหตุ และเหตุปัจจัยที่เป็นไป ทั้งหมดเป็นภารกิจของอัลลอฮฺ ซึ่งเกิดจากพระประสงค์ของพระองค์, สรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้ การมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นมิได้เป็นเอกเทศหรือมีอิสระจากอาตมันของอัลลอฮฺ แม้แต่ในฐานะของผลและร่องรอยก็มิได้เป็นอิสระไปจากพระองค์ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ดังที่อาตมันบริสุทธิ์ของอัลลอฮฺ ไม่มีหุ้นส่วน ภารกิจการงานของพระองค์ก็ไม่มีหุ้นส่วนด้วยเหมือนกัน เตาฮีดอัฟอาล คือองค์ประกอบสำคัญยิ่งของคำกล่าวว่า «لا حول و لا قوة الا بالله» ไม่มีการเคลื่อนและไม่มีพลังใด นอกจากโดยอัลลอฮฺ ซึ่งในเชิงปรัชญาอยู่ภายใต้หัวข้อที่ว่า «لامؤثر في الوجود الا الله» ไม่มีผลในการมีอยู่ในด นอกจากอัลลอฮฺ[3]
สติปัญญายอมรับเตาฮีดในการสร้างสรรค์หรือไม่?
สติปัญญา ต่างยอมรับความเป็นเอกเทศหรือความเป็นหนึ่งเดียวของผู้สร้างสรรค์โลกและจักรวาล, เนื่องจากด้วยเหตุผลในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระองค์-โดยเฉพาะความเป็นไปได้และความจำเป็น-ของการมีอยู่ทั้งหมด, ความเป็นไปได้ ผลและสิ่งถูกสร้างทั้งหมด ล้วนเป็นผลมาจาก วาญิบุลบิลซาต (สิ่งจำเป็นต้องมีคือพระเจ้า) ทั้งสิ้น และด้วยเหตุผลที่ยืนยันถึง เตาฮีดซาตียฺ ความเอกเทศในการมีอยู่, วาญิบุลบิลซาต (สิ่งจำเป็นต้องมีคือพระเจ้า) และความเป็นหนึ่งเดียว. ฉะนั้น ผลสรุปก็คือไม่มีผู้สร้างโลกคนใด นอกจากอัลลอฮฺ[4]
อัลกุรอานมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว?
อัลกุรอาน หลายโองการได้เน้นย้ำในประเด็นความเป็นหนึ่งเดียวของอัลลอฮฺ ในการสร้างสรรค์โลก ดังที่กล่าวว่า ..
1. قُلِ اللَّهُ خالِقُ كُلِّ شَیْءٍ وَ هُوَ الْواحِدُ الْقَهَّارُ؛
" จงกล่าวเถิด อัลลอฮฺ คือพระผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง และพระองค์คือผู้ทรงเอกะ พระผู้ทรงพิชิต”[5]
2. اللَّهُ خالِقُ كُلِّ شَیْءٍ وَ هُوَ عَلى كُلِّ شَیْءٍ وَكِیلٌ
อัลลอฮฺ คือผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง และพระองค์เป็นผู้ทรงดูทุกสิ่ง”[6]
3. ذلِكُمُ اللَّهُ رَبُّكُمْ خالِقُ كُلِّ شَیْءٍ لا إِلهَ إِلاَّ هُوَ؛
“นี่คืออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลของสูเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสิ่ง ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์”[7]
4. هَلْ مِنْ خالِقٍ غَیْرُ اللَّهِ؛
“จะมีพระผู้สร้างอื่นใดจากอัลลอฮฺอีกหรือ”[8]
5. رَبُّنَا الَّذِی أَعْطى كُلَّ شَیْءٍ خَلْقَهُ ثُمَّ هَدى؛
“พระผู้อภิบาลของเราคือ พระผู้ทรงประทานทุกอย่างแก่สิ่งที่พระองค์สร้าง แล้วทรงชี้นำ”[9]
รายงานฮะดีซกับความเป็นเอกเทศในการสร้าง
รายงานฮะดีซอธิบายถึงความเป็นเอกเทศในการสร้างไว้ โดยท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :
«لم یشركه فی فطرتها فاطر، و لم یعنه علی خلقها قادر»
“ในการสร้างมด (หรือสิ่งที่คล้ายคลึงกัน) ไม่มีผู้ใดเป็นหุ้นส่วนของพระองค์ และไม่มีผู้ใดช่วยเหลือพระองค์ในการสร้าง”[10]
นอกจากนั้นท่านยังได้กล่าวอีกว่า «و لا شریك له اعانه علی ابتداع عجائب الامور» “อัลลอฮฺ ไม่มีหุ้นส่วนในการช่วยเหลือพระองค์ ในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ทั้งหลายบนโลกนี้”[11]
และรายงานอีกจำนวนมากมายที่กล่าวถึงประเด็นนี้ ..
ความเป็นเอกเทศในการสร้างเท่ากับเป็นการปฏิเสธระบบของสาเหตุปัจจัยหรือ และหมายถึงการลิขิตอันเป็นสาเหตุของการปฏิเสธเจตนารมณ์เสรีหรือ?
จากตรงนี้เองต้องยอมรับว่า ความเป็นเอกเทศในการสร้างจำกัดเฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้น แต่มิได้หมายถึงการปฏิเสธเรื่องปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ, เนื่องจากระบบของสาเหตุปัจจัย หรือผลเป็นส่วนหนึ่งของโลกวัตถุ แต่ก็มิได้หมายความว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเอกเทศจาก สาเหตุ อันเป็นเหตุแห่งการสร้างสรรค์แต่อย่างใดไม่ ทว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงวางระบบการสร้างสรรค์เหล่านี้ไว้ในโลกวัตถุ และพระองค์คือผู้ทรงสร้างสรรค์กฎเกณฑ์เหล่านั้น. แม้ว่าดวงอาทิตย์ อากาศ มีผลกระทบสำคัญกับพื้นดิน น้ำมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและต้นไม้, แต่การบังเกิดผลและร่องรอยต่างๆ เหล่านั้น เกิดจากการอนุญาตของพระองค์ และเป็นแบบฉบับของพระองค์ที่มีอยู่ในสรรพสิ่งทั้งหลาย. บรรดาผู้ที่เชื่อในเรื่องความเป็นเอกเทศในการสร้างสรรค์ของพระเจ้า โดยปฏิเสธระบบของสาเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ในแง่ของวัตถุที่มีระหว่างส่วนต่างๆ ของโลก ถือว่าเข้าใจผิดมหันต์ ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงถือว่าศาสนาปฏิเสธเรื่ององค์ความรู้ และต่อต้านคำสอนของศาสนา[12]
ฉะนั้น เตาฮีด ในเรื่องการสร้างสรรค์ มิได้หมายถึงเป็นการปฏิเสธเจตนารมณ์เสรี หรือหมายถึงการบังคับก็หาไม่,ทว่าทุกการสร้างสรรค์คือภารกิจของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ ทุกการประดิษฐ์และความต้องการของเราอยู่ในแนวตั้งแห่งพระประสงค์ของพระองค์
[1] ร็อบบานียฺ ฆุลภัยฆอนียฺ, อะลี, อะกออิด อิสติดลาลียฺ, ไซต์อันดีเชะฮ์ กุม
[2] ไซต์ เฮาเซะฮ์ เน็ต
[3] อัสฟาร, เล่ม 2,หน้า 216-219, เนะฮายะฮฺ อัลฮิกมะฮฺ, เล่ม 3, หน้า 677, มุเฏาะฮะรียฺ มัจญฺมูอ์อาซาร, เล่ม 2, หน้า 103, อิฮฺซาน, เตาฮีดและระดับของเตาฮีด
[4] อบบานียฺ ฆุลภัยฆอนียฺ, อะลี, อะกออิด อิสติดลาลียฺ, ไซต์อันดีเชะฮ์ กุม
[5] บทอัรเราะอฺดุ, 16.
[6] บทอัซซุมัร, 62.
[7] บทฆอฟิร, 62
[8] บทฟาฏิร, 3
[9] บทฏอฮา, 50.
[10] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 185.
[11] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 91.
[12] ซุบฮานียฺ,ญะอฺฟัร, แปลโดยมุฮัดดิซ, ญะวาด, ชีมออะกออิดชีอะฮฺ, หน้า 56, มัชอัร