Please Wait
10518
หนึ่งในสาเหตุที่ส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายชายมากกว่าฝ่ายหญิงคือ เรืองค่าเลี้ยงดูของหญิงอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายชาย กล่าวคือฝ่ายชายนอกจากจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนแล้ว ยังมีหน้าที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายประจำวันของฝ่ายหญิงและบรรดาลูกๆ อีกด้วย อีกด้านหึ่งฝ่ายชายต้องเป็นผู้จ่ายมะฮฺรียะฮฺ ส่วนฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายรับมะฮฺรียะฮฺนั้น
ตามความเป็นจริงสามารถกล่าวได้ว่า สิ่งที่ฝ่ายหญิงได้รับในฐานะของมรดกหรือมะฮฺรียะฮฺนั้นก็คือ ทรัพย์สะสม ขณะที่ส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายชายถูกใช้ไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของตน ของภรรยา และบรรดาลูกๆ นอกจากนี้แล้ว ตามหลักการของอิสลามค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งจำเป็นต้องจ่ายเป็นทรัพย์สิน เช่น ค่าใช้จ่ายที่ชายต้องจ่ายเพื่อร่วมในการญิฮาดหรือในกรณีที่ญาติหากกระทำผิดพลาดขึ้น เช่น ฆ่าคนตาย หรือก่อให้เกิดบาดเจ็บเสียหายแก่ฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายชายในฐานะที่มีสติสัมปชัญญะจำเป็นต้องรับผิดชอบ จ่ายค่าปรับและค่าสินไหมต่างๆ ขณะที่ฝ่ายหญิงไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับกรณีต่างๆ เหล่านี้ แม้ว่าภายนอกจะมองดูว่าส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายชายมากกว่าฝ่ายหญิงก็ตาม แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วผลประโยชน์ที่แท้จริงของฝ่ายชายที่ได้รับมรดกทางสังคมนั้น น้อยกว่าฝ่ายหญิง แม้ว่าดูเหมือนว่าเขาจะได้รับมรดกมากกว่าฝ่ายหญิงก็ตามที แต่ความรับผิดชอบเรื่องทรัพย์สินเขาก็มีมากกว่า อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวในเชิงสรุปได้ว่า สาเหตุที่มีความแตกต่างกันในส่วนแบ่งมรดก ระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิงก็คือ การสร้างสมดุลระหว่างสิทธิและหน้าที่ของแต่ละคนจากพวกเขานั่นเอง
ก่อนที่จะตอบคำถาม สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวก่อนคือ กฎของการมากกว่าสองเท่า ที่ว่าด้วยส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายชายมากกว่าผู้หญิงสองเท่า มิได้เป็นกฎทั่วๆไป, ทว่าในบทบัญญัติและกฎหมายอิสลามนั้น มีกรณีของการรับทอดมรดกไม่มีความแตกต่างระหว่างชายและหญิง เช่น บิดามารดาซึ่งทั้งสองจะได้รับมรดกเท่ากัน ซึ่งไม่มีความแตกต่างระหว่างพวกเขา
จากอดีตผ่านมาคำถามนี้ได้ถูกถามเสมอว่า เพราะเหตุใดส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายหญิงจึงน้อยกว่าฝ่ายชาย ถามว่าการทำเช่นนี้มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายชายดอกหรือ ? รายงานจากท่านอิมามญะอฺฟัร อัซซอดิก (อ.) ซึงมีผู้ถามท่านว่า เพราเหตุใดฝ่ายหญิงซึ่งมีความอ่อนแอกว่าชาย ต้องการการสนับสนุนมากกว่า และในส่วนแบ่งมรดกนั้นเธอได้รับเพียงหนึ่งส่วนของฝ่ายชายเท่านั้น ทั้งที่ผู้ชายในแง่ของกำลังทางกายภาพของร่างกายมีความแข็งแรงกว่า เขาจึงได้ส่วนแบ่งอันเป็นมรดกของผู้ตายมากกว่า?
ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า ด้วยเหตุผลที่ว่าชายมีหน้าที่รับผิดชอบมากกว่า ซึ่งมีความรับผิดชอบและการดำเนินการที่หนักกว่า ชายออกสงครามและต้องรับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายในสงคราม ฝ่ายชายนอกจากต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตนเองแล้ว ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของภรรยาและครอบครัวอีกด้วย ชายในฐานะที่เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ จำเป็นต้องรับผิดชอบการก่ออาชญากรรมของญาติ ต้องจ่ายทรัพย์สินแทนค่าเสียหายต่างๆ ขณะที่หญิงไม่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในกรณีเหล่านี้เลย[1]
อีกรายงานหนึ่งจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้เน้นย้ำประเด็นดังกล่าว การจ่ายมะฮฺรียะฮฺของชายแก่หญิงเท่ากับเป็นการชดเชยส่วนน้อยจากส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายหญิง[2]
สิ่งที่อิสลามได้กล่าวถึงเรื่องมรดกนั้น ตามความเป็นจริงแล้วเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อผลประโยชน์ของฝ่ายหญิงทั้งสิ้น ในสมัยสังคมอานารยชนนั้นจะเห็นว่า สตรีและบุตรสาวถูกกีดกันมรดกหมายถึงไม่มีสิทธิรับมรดกแต่อย่างใด ซึ่งมรดกของผู้ตายทั้งหมดจะตกเป็นของฝ่ายชายหรือบุตรชายเท่านั้น แต่อิสลามได้ยกเลิกกฎเกณฑ์ของสังคมอานารยชน[3] และนำเอาสตรีมามีส่วนในการรับมรดกของผู้ตาย และนับตั้งแต่เริ่มต้นอิสลามแล้วที่ฝ่ายหญิงมีความอิสระในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทรัพย์สิน ซึ่งจะเห็นว่ากรณีดังกล่าวนี้จะเห็นว่าประเทศแถบยุโรป เพิ่งจะบรรจุในรัฐธรรมนูญของพวกเขาสักประมาณ 2 ศตวรรษที่ผ่านมา
ทั้งที่ภายนอกจะเห็นว่าชายได้ส่วนแบ่งมรดกมากกว่าหญิงสองเท่า แต่ถ้าใคร่ครวญให้ละเอียดถี่ถ้วนสักเล็กน้อย จะเห็นว่าด้านหนึ่งมรดกของฝ่ายหญิงนั้นมากกว่าชายสองเท่าด้วยซ้ำไป เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากอิสลามได้ให้การสนับสนุนสิทธิสตรีไว้เป็นกรณีพิเศษนั่นเอง
นั่นเป็นหน้าที่ที่ได้มอบให้เป็นภาระรับผิดชอบของฝ่ายชาย ทำให้การดำเนินการครึ่งหนึ่งของรายได้จึงต้องใช้สำหรับผู้หญิง ฝ่ายชายมีหน้าที่เลี้ยงดูภรรยาของเขาบนพื้นฐานความต้องการของเธอทั้งที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งกาย อาหาร และอุปกรณ์ของใช้อื่น ๆ และฝ่ายชายยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเองและลูกๆ ของพวกเขา ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเขา แม้ว่าฐานะของฝ่ายหญิงสามารถจ้างคนรับใช้และจ่ายค่าจ้างได้ก็ตาม กระนั้นค่าใช้จ่ายและค่าจ้างของคนรับใช้ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายชายอยู่ดี[4]
ด้วยคำอธิบายดังกล่าวนี้จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนแบ่งมรดกจำนวนมากของฝ่ายหญิงนั้นมีความสมดุลระหว่างบุรุษและสตรี ฉะนั้นหากจะมีการทักท้วงฝ่ายชายต่างหากที่จะต้องทักท้วง มิใช่ฝ่ายหญิง[5]
ตรงข้ามกับภาระหน้าที่ของฝ่ายชายที่ต้องรับผิดชอบจะเห็นว่าฝ่ายหญิงไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นแม้แต่ค่าใช้จ่ายของตัวเองก็ตาม เช่น ค่าเสื้อผ้า อาหาร และอื่นๆ ซึ่งฝ่ายหญิงไม่มีหน้าที่รับผิดชอบอันใดทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เอง ในแง่ของการปฏิบัติจะเห็นว่าฝ่ายหญิงจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าจากทรัพย์มรดก ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ ได้กล่าวว่า สมมุติว่าทรัพย์ต่างๆ ที่มีอยู่บนโลกนี้มีประมาณ 3 พันล้าน แล้ค่อยๆแบ่งปันไปให้คนหนุ่มสาวบนโลกนี้ จะเห็นว่าจำวน 20 ล้านเป็นของฝ่ายชาย และ 10 ล้านเป็นของฝ่ายหญิง ซึ่งผู้หญิงนั้นต้องแต่งงานตามธรรมชาติ แล้วค่าเลี่ยงดูของนางอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายชาย ด้วยเหตุผลนี้เอง ฝ่ายหญิงสามารถเก็บส่วนแบ่งมรดกของตนเองจำนวน 10 ล้านไว้เป็นเงินสะสม แล้วพวกเธอยังมีส่วนร่วมในส่วน 20 ล้านของฝ่ายชายอีกต่างหาก ดังนั้น ถ้าเอาส่วนแบ่งทั้งสองส่วนมารวมกันจะเห็นว่าฝ่ายหญิงได้รับมรดกโดยรวมแล้วมากกว่าฝ่ายชายเสียด้วยซ้ำ[6]
ด้งนั้น เมื่อพิจารณาประเด็นที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเราสามารถทราบถึงสาเหตุได้ทันทีว่า เป็นเพราะสาเหตุใดที่ส่วนแบ่งมรดกของฝ่ายหญิงต้องน้อยกว่าชายครึ่งหนึ่ง ซึ่งพอกล่าวสรุปได้ดังนี้
1. มะฮฺรียะฮฺ เมื่อข้อตกลงการแต่งงาน (อักด์นิกาฮฺ) ได้ถูกอ่านขึ้น ฝ่ายชายมีหน้าที่จ่ายมะฮฺรียะฮฺแก่สตรี ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่เธอเรียกจากฝ่ายชาย เมื่อนั้นเขาต้องจ่ายให้เธอ นอกเหนือจากนี้แล้วสตรีไม่มีหน้าที่อันใด และไร้ความสามารถเมื่อเผชิญหน้ากับฝ่ายชาย ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ ฝ่ายชายมีหน้าที่ตามบทบัญญัติในการกำหนดมะฮฺรียะฮฺแก่ฝ่ายหญิงทันที และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่บรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ก็ได้แนะนำเอาไว้[7]
2. ค่าเลี้ยงดู ชีวิตการครองเรือนฝ่ายชายมีหน้าที่รับผิดชอบค่าเลี้ยงดูของตนเอง และครอบครัว เขามีหน้าที่จัดหาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยเหมาะสมให้แก่ครอบครัว หรือตามเกียรติของภรรยาสิ่งเหล่านี้เป็นหน้ามี่ของสามีหรือฝ่ายชาย ภรรยาแม้ว่าจะเป็นคนมีฐานะดี กระนั้นเธอก็ไม่ได้มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอันใดเกี่ยวกับค่าเลี้ยงดูแม้แต่น้อย ฝ่ายหญิงในชีวิตการครองเรือนนอกจากไม่ต้องออกค่าเลี่ยงดูแล้ว การงานบ้านอย่างอื่น เช่น การให้น้ำนมเลี้ยงลูก การหุงหาอาหาร เธอยังสามารถเรียกร้องเงินรางวัลจากสามีได้อีกต่างหาก
3. หน้าที่พิเศษของฝ่ายชาย หน้าที่หนักภายในครอบครัวถือเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ซึ่งฝ่ายหญิงไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด เช่น การญิฮาดในหนทางของพระเจ้า ฝ่ายชายต้องเป็นผู้แบ่งปันทรัพย์สินของตนไปเพื่อการญิฮาด ดังที่โองการอัลกุรอาน และรายงานฮะดีซก็กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้เอาไว้ว่า การญิฮาดด้านทุนทรัพย์นั้นมาก่อนการญิฮาดด้วยชีวิต ดังนั้น ฝ่ายชายต้องให้ทุนทรัพย์ของตนเพื่อการญิฮาด[8] ขณะเดียวกันอาชญากรรมที่ญาติพี่น้องก่อเหตุขึ้นฝ่ายชายต้องเป็นผู้เสียค่าปรับและค่าสินไหมเหล่านั้น ซึ่งฝ่ายหญิงได้รับการยกเว้นเอาไว้จากประเด็นเหล่านี้
ข้อสังเกต อิสลามไม่ต้องการกระทำสิ่งใดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของฝ่ายหญิง หรือทำลายผลประโยชน์ของฝ่ายชายแต่อย่างใด หรือในทางกลับกัน อิสลามไม่ได้เข้าฝ่ายชายและก็ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายหญิง ตามกฎระเบียบของอิสลามต้องการให้ทั้งสองฝ่ายพบกับความสุขความจำเริญยิ่งขึ้นไป และบรรดาลูกๆ ได้รับการเลี้ยงดูและเจริญเติบโตตามคำสั่งสอนที่ดีของบิดามารดา อีกทั้งยังต้องเอาใจต่อความเจริญและความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์อีกด้วย[9] อย่างไรก็ตามอิสลามได้ให้ฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบด้านค่างเลี้ยงดูและค่าใช้จ่ายอย่างอื่นของครอบครัว บนพื้นฐานของหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจ การแบ่งทรัพย์สินในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นมรดกตกทอด โดยไม่ได้แบ่งชั้นหรือลำเอียงแต่อย่างใด อีกด้านหนึ่งกลุ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้ถูกจัดวางไว้สำหรับบุรุษและสตรีในอิสลาม สิ่งเหล่านี้โดยตัวของมันเองได้ก่อให้เกิดกฎเกณฑ์อันเฉพาะเจาะจงที่ว่าด้วยเรื่องของมรดก ซึ่งสิ่งนี้ไม่อาจมีข้อท้วงติงกับกฎหมายอิสลามในเชิงแพ่งและพาณิชย์ได้
ในที่สุดแล้วอาจำเป็นไปได้ที่จะกล่าวว่า ถ้าหากเป็นเช่นนี้แล้วกล่าวคือ ค่าใช้จ่ายด้านการเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายชายแล้ว ดังนั้นสตรียังจะมีความต้องการอันใดในทรัพย์สมบัติอีก ?
คำตอบ อาจกล่าวได้ว่าเนื่องจากมะฮียะฮฺ และส่วนแบ่งมรดกของสตรีคือเงินสะสมประเภทหนึ่ง สำหรับอนาคตข้างหน้าเนื่องจากถ้าเกิดอุบัติการณ์ที่ไม่ดี ทำให้เธอต้องแยกทางกับสามี หรือสามีตายจากไป เธอจะได้สามารถดำรงชีวิตสืบต่อไปได้ด้วยเงินสะสมที่เก็บรักษาเอาไว้[10] และเธอสามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความสงบสุข ไม่ต้องเดือดร้อนหรือกังวลใจเรื่องรายได้อีกต่อไป
แต่การที่บอกว่าค่าเลี้ยงดูของฝ่ายหญิงอยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายชาย ก็เพื่อว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายหญิงต้องมากังวลใจหรือมายุ่งยากกับเศรษฐกิจของครอบครัว ให้เธอเอาเวลาเหล่านั้นทุ่มเทให้กับการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบรรดาลูกๆ อย่างเต็มที่ เพื่อเธอจะได้สงมอบบุคลากรที่ดีแก่สังคมซึ่งตามหลักการอิสลามถือว่า ทุนมนุษย์คือสิ่งที่ดีเลิศที่สุดกว่าทุนทรัพย์อื่นใดของสังคม ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใดก็ตามระบบครอบครัวถือว่าเป็นหน่วยเนื้อที่เป็นแก่หลักที่ให้การสนับสนุนสังคม
ดังนั้น ตามหลักการของอิสลามแล้วได้ให้เกียรติและเคารพในสิทธิของสตรีมาตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไม่เคยสั่งสอนเลยว่าสตรีเป็นสิ่งไม่มีค่าทางสังคม สามารถจัดการอย่างไรกับพวกเธอก็ได้ หรือจะนำพวกเธอไปกระทำชำเราอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ ทว่าสตรีคือผู้มีเกียรติอันยิ่งใหญ่ในฐานะทีเป็นแม่พระและเป็นครูที่ให้การอบรมสั่งสอนบุคลากรที่ดีแก่สังคม และเพื่อเธอจะได้กระทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ อิสลามจึงได้กำหนดการรับผิดชอบเรื่องค่าเลียงดูครอบครัว ให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายชาย
[1] ฮุร อามิลี วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่ม 26 หน้า 93 อาลุลบัยตฺ เชคฏูซีย์ ตะฮฺซีบุลอะฮฺกาม เล่ม 9 หน้า 174 และ 275 ดารุลกุตุบอิสลาม, อัลกาฟีย์ เล่ม 7 หน้า 85
[2] เชค ซะดูก อิลัลชะรอญิอ์ เล่ม 2 หน้า 57 ดารุลกุตุบอิสลามียะฮฺ 1365
[3] อบุลฟัตฮฺ รอซียฺ ตัฟซีรเราฎุลญันนาน เล่ม 10 หน้า 268 ออกตอนกุดส์ ระฎะวียฺ
[4] มัรยัม ซอวีญีย์ สิทธิสตรีในอิสลามและครอบครัว หน้า 113 พิมพ์ครั้ง 2 ปี 1371
[5] มุฮัมมัด ฮุเซน ฟัฎลุลลอฮฺ บทบาทของสตรีในสิทธิอิสลาม แปลโดยอับดุลฮาดีย์ ฟะกีฮฺซอเดะฮฺ สำนักพิมพ์ สำนักพิพากษา
[6] มะการิม ชีรอซีย์ นาซิร ตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ เล่ม 3 หน้า 288 ดารุลกุตุบอิสลามียะฮฺ
[7] มุฮัมมัด อิบนุ ระฏอ อัลกุมมี อัลมัชฮะดียฺ กันซุลดะกออิด เล่ม 3 หน้า 343
[8] กอฎีย์ เฏาะบาเฏาะบาอียฺ การวิจัยเกี่ยวกับมรดกของสตรี จากทรัพย์ของสามี มีฮัน 1553 หน้า 143
[9] มุรตะฎอมุเฏาะฮะรีย นิซอมฮุกูกซันดัรอิสลาม หน้า 253 สำนักพิมพ์ฟังฮังอิสลาม พิมพ์ครั้งแรก ปี 1353
[10] ฏอละกอนีย์ ซัยยิดมะฮฺมูด พัรตูอัซกุรอาน เล่ม 6 หน้า 90 สำนักพิมพ์เตหะราน ห้างหุ้นส่วนจำกัดสำนักพิมพ์